ปรับธุรกิจให้อยู่รอดในสังคมสูงวัย
‘ยุคสังคมผู้สูงอายุ’อาจมีแนวโน้มก่อตัวเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นจุดจบของธุรกิจต่างๆ ดังนั้นถ้าผู้ประกอบการปลีกย่อยต้องการรอดจากปัญหาหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุดต้องวิเคราะห์สถานการณ์ให้ดี แล้วจะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจว่า ‘กลุ่มผู้สูงอายุ’ ก็เป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่จะกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญของธุรกิจได้
เมื่อต้องการทำการตลาดกับผู้สูงอายุจำต้องระลึกเสมอว่า กลุ่มผู้สูงอายุแบ่งเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองได้ และ ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เมื่อเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนแล้ว จากนั้นต้องหาทางเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยพิจารณาถึงความต้องการของคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ซึ่งข้อมูลการวิจัยจากธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ผลสรุปว่า กลุ่มคนสูงอายุมีความต้องการสามด้านหลัก ดังนี้ 1. ความต้องการมีสุขภาพดี 2. ความต้องการมีสังคม และ 3. ความต้องการมีการเงินที่มั่นคงและเพียงพอ
หากยังมองไม่เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยน ลองนำความต้องการทั้งสามด้าน มาพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ก็จะได้แนวทางการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักปัจจัย 4 ดังต่อไปนี้
1. ธุรกิจด้านอาหาร
‘You are what you eat.’ เรื่องอาหารการกินนับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกคนไม่เฉพาะผู้สูงวัยเท่านั้นดังนั้นหากธุรกิจที่ทำสามารถปรับตัวเพิ่มสายการผลิตสินค้าเกี่ยวกับอาหารเข้าไปได้ในระบบธุรกิจของตนเองได้ โดยมีสัดส่วนการผลิตอาหารที่เหมาะกับผู้สูงวัยมากขึ้น อย่างอาหารจำพวกเพื่อสุขภาพต่างๆ ที่มีการคำนวณสารอาหารที่มีประโยชน์ อาหารออร์แกนิค (อาหารที่มีกระบวนการผลิตตามธรรมชาติปลอดสารเคมี) หรืออาหารที่รับประทานคล่อง เคี้ยวได้ง่าย ย่อมเป็นที่สนใจของผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุทั้งสิ้น นอกจากผลิตภัณฑ์อาหารหลักแล้ว กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยให้ร่างกายของคนวัยเกษียณแข็งแรงและสุขภาพดีก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากันเลย
เมื่อมีการผลิตสินค้าแล้ว การบริการก็ควรมีรองรับคนกลุ่มนี้เช่นกัน อาทิ การจัดส่งถึงที่บ้าน แบบที่เรียกว่า เดลิเวอรี่ (Delivery) ก็จะสะดวกสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ยิ่งนัก หรือแม้แต่ร้านค้าขายปลีกอาจต้องมีการปรับเวลาเปิดและปิดเพื่อเอาใจวัยดึกเพื่อให้สามารถไปจับจ่ายได้ในยามคำคืนหรือเช้าตรู่ได้ จากข้อมูลของ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวไว้ว่า การนอนเป็นกลไกการพักผ่อนตามธรรมชาติของมนุษย์ แต่สำหรับร่างกายของผู้สูงวัยมักงีบหลับในยามกลางวันมากกว่าและยามคำคืนประสิทธิภาพในการนอนลึกนั้นก็ลดลง ทั้งยังตื่นบ่อยๆ ในกลางดึกประมาณตี 2 ตี 3 และไม่สามารถหลับต่อได้อีก ดังนั้นหากเล็งกลุ่มเป้าหมายนี้การขยับเวลาเปิดเร็วขึ้นอีกนิดก็จะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้สูงวัยได้มากขึ้น
2. ธุรกิจเครื่องนุ่งห่มกับแฟชั่น
หากมองอย่างผู้มีหัวก้าวหน้า...ธุรกิจเครื่องแต่งกายก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจและสามารถสนองความต้องการของผู้สูงวัยได้เพราะคนกลุ่มนี้ปัจจุบันก้าวทันเทคโนโลยีมากกว่าแต่ก่อนจึงเปิดใจกว้างรับสังคมที่เปลี่ยนไปได้มากขึ้น อีกทั้งมีความชัดเจนในความต้องการของตนเอง ถึงแม้การเลือกซื้อเสื้อผ้าจะไม่บ่อยเท่าคนในวัยอื่นๆ แต่ก็ต้องการสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับวัยและฐานะ ...ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจสายนี้ยังไม่มีมากนัก ดังนั้นหากต้องการเจาะตลาดคนกลุ่มนี้ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ผู้สูงวัยต้องการไม่ใช่ต้องการเพียงแค่เสื้อผ้าที่สวมสบาย ใส่ง่ายถอดคล่อง ดูแลรักษาง่าย หรือราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องมีคุณภาพ สวยเก๋ เท่สมวัย ใส่ได้นานอีกด้วย ทั้งตอบรับกับการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของผู้สูงวัยได้ แล้วเมื่อมีสินค้าที่น่าสนใจผู้สูงอายุที่มีกำลังทรัพย์กลุ่มนี้ย่อมไม่เกี่ยงหากจะต้องซื้อของแพงเพื่อเป็นลูกค้าคนสำคัญเพราะถึงแม้สังขารภายนอกและระบบการทำงานภายในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับแฟชั่นและสไตล์ไม่เคยสูญหายหรือหมดไปตามอายุและกาลเวลา
เหมือนกรณีศึกษาที่ TCDC ยกตัวอย่างไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2551 แบรนด์ดังอมตะจากประเทศอังกฤษ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ (Mark & Spencer) ได้ผลิตเสื้อผ้าราคาถูกกลุ่ม Portfoilo เพื่อลูกค้าผู้สูงวัยโดยเฉพาะแต่กลับไม่ได้รับความสนใจ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้สนใจซื้อเสื้อผ้ากลุ่ม Autograph ซึ่งเป็นกลุ่มเสื้อผ้าระดับสูงของแบรนด์ มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์ มากกว่า นั่นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่สนใจในจำนวนเงินที่ต้องจ่ายแต่ต้องการสิ่งที่เข้ากับบุคลิกและรสนิยมของตนเองมากกว่า
แล้วเมื่อปี พ.ศ. 2555 แบรนด์แฟชั่นดังชั้นนำ ปราด้า (Prada) ได้เปิดคอลเลคชั่นฤดูใบไม้ร่วง – ฤดูหนาว ด้วยการเลือก แกรี่ โอล์ดแมน (นักแสดงวัย 56 ปี) เป็นนายแบบของคอลเลคชั่นเพื่อดึงกลุ่มลูกค้าสูงวัยให้หันมาสนใจในแบรนด์ซึ่งในปีนั้นปราด้าก็กลับมาเป็นที่สนใจของลูกค้ากลุ่มนี้อีกครั้ง แต่ที่สร้างความฮือฮาในวงการแฟชั่นอย่างมากคือเมื่อปี พ.ศ. 2557 แบรนด์ดังของอเมริกา อย่าง อเมริกัน แอพพาเรล (American Apparel) ตัดสินใจจ้างนางแบบวัย 62 ปี แจ็คกี้ โอชเนสซี่ (Jacky O’Shaughnessy) มาเป็นนางแบบชุดชั้นใน ภาพลักษณ์ที่ออกมาแสดงถึงความมั่นใจ มีชีวิตชีวา แม้จะสูงวัยก็ตามซึ่งสินค้านั้นก็สามารถทำยอดขายได้ดีจนเธอได้เซ็นสัญญาเป็นพรีเซ็นเตอร์ประจำของแบรนด์
เมื่อพูดถึงสินค้าเครื่องนุ่งห่มแล้ว ก็ต้องพูดถึงการทำหน้าร้านสำหรับค้าขาย หรือจัดพื้นที่สำหรับขายในห้างสรรพสินค้าด้วยควรมีมุมมองที่กว้างไกลเช่นกัน จากที่เคยมีเพียงแผนกเด็กอ่อน แผนกบุรุษสตรี ควรเพิ่มแผนกผู้สูงวัยเข้าไปด้วยโดยจัดสรรพื้นที่การเดินเลือกสินค้าภายในร้านให้เหมาะสม จัดวางสินค้าที่ง่ายต่อการหยิบซื้อ สินค้ามีฉลากที่อ่านได้ง่ายหรือแม้กระทั้งการจัดจุดพักระหว่างการจับจ่าย เรื่องการจัดสรรพื้นที่นี้สะท้อนถึงความเข้าใจ การให้ความสำคัญและความใส่ใจต่อลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเข้าใจสิ่งเหล่านี้การเพิ่มยอดขายจากธุรกิจก็มีโอกาสโตขึ้นแน่
3. ธุรกิจที่อยู่อาศัยและความปลอดภัย
ธุรกิจกลุ่มนี้ไม่ได้หมายถึงแค่บ้านสำหรับอยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงสิ่งก่อสร้างเพื่อให้บริการผู้สูงวัย อาทิ บ้านพักดูแลสำหรับผู้สูงอายุ (Nursing Home) โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งการเดินทางและบริการอย่างเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มนี้ เมื่อมีสถานที่ถูกก่อสร้างขึ้นแน่นอนว่าธุรกิจด้านการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ หรือการค้าวัสดุสำหรับก่อสร้าง หรือแม้แต่เครื่องมืออุปกรณ์เสริมที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยก็เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน นอกจากการสร้างใหม่แล้ว การซ่อมแซมและต่อเติมที่พักอาศัยสำหรับวัยสูงอายุก็ต้องการช่างผู้ชำนาญที่มีความเข้าใจในโครงสร้างต่างๆ อาทิ การทำทางลาดในกรณีที่ผู้สูงอายุใช้รถเข็น ราวจับที่ช่วยพยุงเดิน หรือกระทั่งลิฟท์ขนาดย่อม เป็นต้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีความมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตตนเองมากขึ้น
อีกธุรกิจหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงคงไม่ได้เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้สูงอายุ นั่นคือ ธุรกิจประกันภัย เมื่อพูดถึงการประกันภัยหลายคนอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็น แต่ในทางกลับกันผู้ที่สนใจก็จะมองเห็นว่า อย่างน้อยๆ ชีวิตหนึ่งก็จะมีผู้ดูแล ยิ่งขณะนี้การประกันชีวิตยุคนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเสียชีวิต บาดเจ็บหรือทุพลภาพอย่างเดียวแต่บริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มหันมาจัดโปรแกรมประกันชีวิตที่ดูแลชีวิตแล้วครอบคลุมถึงเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุด้วย จึงนับเป็นอีกแนวทางของธุรกิจที่คาดว่าจะเติบโตไปพร้อมกับความต้องการของผู้สูงวัยที่ปัจจุบันมีสถานโสดและไม่มีครอบครัวเพราะกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้เมื่ออายุเพิ่มขึ้นต่างก็ต้องการความมั่นใจว่าสุขภาพในอนาคตว่าจะมีผู้ดูแล
4. ธุรกิจยารักษาโรคและการฟื้นฟูสุขภาพ
เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เรื่องสุขภาพของผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องพึงระวัง ก่อนอื่นคงต้องรู้ก่อนว่าโรคต่างๆ ที่มักเกิดในผู้สูงวัยนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มโรคที่พบได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยสูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง โดยโรคเหล่านี้อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากอายุโดยตรงแต่เกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพ เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพิ่มขึ้น ส่วนอีกกลุ่มนั้นคือ กลุ่มโรคของผู้สูงอายุโดยตรง เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน ข้อเสื่อม โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ (ต่อมลูกหมากโตในผู้ชายและปัสสาวะเล็ดในผู้หญิง) ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ได้จัดบริการและโปรแกรมตรวจสุขภาพเฉพาะโรคและแบบองค์รวมไว้บริการผู้สูงวัยโดยเฉพาะ นอกเหนือจากนี้ยังมีธุรกิจศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงวัยที่นับเป็นธุรกิจที่จะได้รับ ความสนใจจากผู้สูงอายุไม่น้อย ดังนั้นหากสามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์ ยารักษาโรค การดูแลฟื้นฟูสุขภาพ และการรักษาพยาบาลได้ โอกาสรอดรุ่งและรวยจากการทำธุรกิจนี้มีเห็นๆ
นอกจากธุรกิจด้านบริการสุขภาพแล้ว ธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าประเภทเทคโนโลยีทางการแพทย์ก็น่าจับตามองเพราะปัจจุบันเทคโนโลยีของโลกพัฒนาไปไกลยิ่งนัก โดยเฉพาะเทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง เส้นทางการทำธุรกิจในฐานะตัวแทนนำเข้าเทคโนโลยีทางการแพทย์หรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพผู้สูงวัยจึงเป็นอีกธุรกิจที่จะรุ่งโรจน์ได้หากสามารถเลือกสินค้าได้ตรงความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุจริงๆ
ธุรกิจการบริบาลและการจัดกิจกรรมสำหรับคนสูงวัย มีความน่าสนใจเช่นกันเพราะต่างก็รู้ว่านอกจากวัยที่เพิ่มขึ้นประสิทธิภาพในการดูแลร่างกายตนเองกลับลดลง ดังนั้นไม่ว่าจะไปที่ใดหากมีผู้ดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิดย่อมช่วยให้สมาชิกในครอบครัวของผู้สูงวัยที่อยู่ในวัยแรงงานคลายกังวลในการดูแลพวกเขาได้มาก สำหรับในปัจจุบันธุรกิจเกี่ยวกับการบริบาลผู้สูงอายุในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปในลักษณะของการดูแลฟื้นฟูเสียมากกว่า แต่ก็มีตัวอย่างธุรกิจไทยหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้น อย่าง ‘ร้านคุณตาคุณยาย ForOldy’ ธุรกิจขนาดย่อมเพื่อสังคมที่นอกเหนือจากการให้เช่าและจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์เสริมสมรรถนะของร่างกายผู้สูงวัยต่างๆ ยังได้มีการจัดโครงการเพื่อผู้สูงอายุ หรือเรียกว่า ‘ForOldy Project’ ซึ่งจัดตั้งโดย อรนุช เลิศกุลดิลก เพียงมุ่งหวังให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยโครงการนี้ได้เปิดรับอาสาสมัครช่วยดูแลผู้สูงวัยและจัดกิจกรรมต่างๆ แก่ผู้สูงอายุในชุมชนอีกด้วย
หรือตัวอย่างธุรกิจในประเทศออสเตรเลีย ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ได้ทำกิจกรรมที่สนใจ ทั้งยังทำให้ผู้สูงวัยมีสังคมจึงไม่ให้รู้สึกเหงาโดดเดี่ยว ธุรกิจแบบนี้เรียกว่า Recreation Program for Older Adults โดยเรียกเก็บเงินค่าบริการที่ไม่แพงแต่มีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย เช่น การพาไปเดินออกกำลังตามสวนสาธารณะที่แสนร่มรื่น การทานเลี้ยงบาร์บีคิว การพาไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่การเลี้ยงมื้อกลางวันในภัตตาคาร รวมทั้ง การพาล่องเรือในอ่าวนครเมลเบิร์นเพื่อชมแสงสียามค่ำคืน หรือแม้แต่การทานเลี้ยงมื้อค่ำ เป็นต้น
มองเห็นแนวทาง... ‘ธุรกิจ’ ก็รอดในการแข่งขันทางการตลาด
เนื้อหาข้างต้นเป็นเพียงการนำเสนอแนวทางที่ใช้ปัจจัย 4 อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นเกณฑ์พิจารณาแนวทางในการปรับตัวของธุรกิจไทยให้อยู่รอด รุ่งและแข่งขันได้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจในยุคสังคมผู้สูงวัยนั้น จะรุ่ง จะรอด หรือจะร่วง ผู้ประกอบธุรกิจไม่ว่าจะรายใหญ่ หรือรายย่อยต่างต้องมีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้รอบด้าน โดยไม่พลาดข้อมูลต่างๆ อีกทั้งต้องคิดวิเคราะห์ วางแผนกลยุทธ์อย่างรัดกุม โดยไม่มัวแต่ตื่นตระหนกกับกระแสข่าวจนเกินไป แล้วเมื่อเตรียมตัวพร้อม การที่จะเป็นผู้ชนะที่ประสบความสำเร็จในเกมการแข่งขันก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใด ซึ่งแนวคิดจากบทความนี้อาจนำไปแตกยอดความคิดทางธุรกิจออกไปได้อีกหลากหลาย โดยอาจผนวกกับวิถีการดำเนินชีวิตในโลกดิจิตอลปัจจุบันหรือผสานกับแนวคิดตามวิถีชีวิตเรียบง่ายดั้งเดิมเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ หรืออาจเกิดเป็นธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจและเหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยที่จะนำไปเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ผู้ประกอบธุรกิจได้
...แต่ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจ ‘ผู้สูงอายุ’ อย่างแท้จริง แล้วท้ายที่สุดลูกค้ากลุ่มใหญ่นี้ก็จะตอบแทนความตั้งใจอย่างคุ้มค่าทีเดียว