ผ้าไทยท้องถิ่นอันดามันสู่สากลกับแบรนด์ WISHARAWISH

มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับแบรนด์ WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) เล็งเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย จึงได้ดำเนินงานโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่นไข่มุกอันดามันสู่สากล พร้อมจัดงานแสดงผลงานเครื่องแต่งกายผ้าไทยท้องถิ่น เปิดตัวคอลเลคชั่น “WISHARAWISH Presented by PKRU” (วิชระวิชญ์ พรีเซนต์ บาย พีเคอาร์ยู)

ในครั้งนี้ถือเป็นการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดามันในเรื่องผ้าบาติกและผ้าท้องถิ่นดั้งเดิมของชุมชน/กลุ่มที่มีความโดดเด่นในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา ทั้งสิ้น 4 ชุมชน ได้แก่ รักษ์บาติก จังหวัดภูเก็ต, ผ้าทอซาโอริ จังหวัดพังงา, ผ้าทอทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ และไฑบาติก จังหวัดกระบี่

PuffxWishaeawish.png

WISHARAWISH Presented by PKRU” (วิชระวิชญ์ พรีเซนต์ บาย พีเคอาร์ยู) คอลเลกชั่นผ้าไทยร่วมสมัยล่าสุดของ แบรนด์ “WISHARAWISH” ออกแบบและรังสรรค์ผลงานโดย คุณ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ ซึ่งคอลเลคชั่นนี้ผ่านการออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายแต่พิถีพิถันในรายละเอียดของเทคนิค หยิบยกเอาความงามและความละเมียดละไมของผืนผ้าไทยท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญ รังสรรค์ผ่านความรื่นรมย์ทั้งปวงในช่วงเวลาของการพักผ่อนหย่อนใจ ณ ท้องทะเลอันดามัน ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่าน Silhouette (ซิลลูเอท) ของชุดและเอกลักษณ์ผืนผ้าท้องถิ่นอันดามัน บรรยากาศของการพักผ่อนถูกจำลองผ่านเทคนิคการออกแบบแพทเทิร์นและการตัดเย็บที่ซับซ้อนให้เกิดเป็นรูปทรงที่เรียบง่ายแต่กลับทรงพลังในการปลุกเร้าประสาทสัมผัสของเรา ให้หวนกลับไปนึกถึงห้วงเวลาแห่งความสุขที่เราได้ใช้ ณ ริมหาดทราย และท้องทะเลอันสวยงาม

ดร.ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ รองอธิการบดี ฝ่ายแผนงานและการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ดร.ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ รองอธิการบดี ฝ่ายแผนงานและการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ดร.ดวงรัตน์ โกยกิจเจริญ รองอธิการบดี ฝ่ายแผนงานและการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า“มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตดำเนินงานตามพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยทางมหาวิทยาลัยได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นผ้าพื้นเมือง อาทิ ผ้า   บาติก ผ้าทอซาโอริ และผ้าขาวม้า จาก  3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ซึ่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนาในเรื่องของลวดลายผ้าและการพัฒนา Packaging (แพคเกจจิ้ง) เพื่อพัฒนาต่อยอดให้สู่ตลาดสากล โดยในความร่วมมือครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เชิญดีไซเนอร์แบรนด์ไทยที่มากความสามารถอย่างคุณวิชระวิชญ์ เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการออกแบบรูปร่างและรูปทรงของผ้าให้มีความทันสมัย สามารถสวมใส่ได้ในหลากหลายโอกาส ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผ้าลวดลายที่ได้ออกแบบนี้จะสามารถต่อยอดสู่ตลาดสากลได้”

คุณชาย นครชัยอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

คุณชาย นครชัยอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

คุณกัลยา ทำสวน ผู้ประกอบการจาก ผ้าทอทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่

คุณกัลยา ทำสวน ผู้ประกอบการจาก ผ้าทอทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่

ทางด้าน คุณชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ให้เกียรติมาร่วมงานและกล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจที่แบรนด์ของคนไทยประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในระดับนานาชาติ เป็นความภูมิใจของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมที่ได้สนับสนุนบุคคลที่มีความสามารถและร่วมกันผลักดันผ้าไทยสู่สากล ซึ่งคุณวิชระวิชญ์มีวิธีคิดและเทคนิคการออกแบบที่สวยงามและทันสมัยอยู่แล้ว สามารถปรับลุคของผ้าที่อาจจะดูเชยให้มีความน่าสนใจขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับวิถีการผลิตให้ง่ายและสวยงามขึ้น รวดเร็วขึ้น ซึ่งนับเป็นการพัฒนาวงจรในการผลิตให้ดีขึ้นอีกด้วย”

สุดท้ายนี้ คุณกัลยา ทำสวน ผู้ประกอบการจาก ผ้าทอทุ่งทะเล จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “นอกจากภาคใต้ของประเทศไทยจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกแล้ว ยังมีศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชุมชนที่มีรากฐานมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของผ้าท้องถิ่นต่างๆ และความร่วมมือในการร่วมออกแบบผลงานผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่นไข่มุกอันดามันสู่สากลในครั้งนี้ ทางผู้ประกอบการมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชั่นผ้าไทยที่เกิดจากการร่วมคัดสรรผ้าท้องถิ่นต่างๆ อาทิ ผ้าฝ้ายทอมือ ผ้าขาวม้า และผ้ายกดอก ซึ่งเป็นผ้าไทยท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH

คุณวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กล่าวถึงที่มาของคอลเลกชั่นนี้ว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ผมดึงเอารากเหง้าที่ผู้ประกอบการเขามีอยู่แล้วมาต่อยอดและเอาเทคนิคการออกแบบเข้าไปพัฒนา เนื่องจากทุกที่มีผ้าที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน ทั้งผ้าบาติก ผ้าปาเต๊ะ และผ้าท้องถิ่นดั้งเดิมของชุมชนที่มีความโดดเด่นในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา รวมทั้งสิ้น 4 ชุมชน ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดรากวัฒนธรรมไทยให้มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งผมในฐานะนักออกแบบ ก็มีความยินดีที่จะช่วยพัฒนาผ้าไทยสู่สากล ในคอลเลกชั่นนี้ผมได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงเวลาของการพักผ่อนเมื่อผมได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสท้องทะเลอันดามัน อย่างเช่น การใช้คู่สีในการนำเสนอรูปแบบจากช่วงเวลาของชีวิตริมชายหาดที่หมุนวนอยู่กับความงดงามของแสงสุดท้ายจากดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า ณ ช่วงเวลา “แสงสนธยา” (Twilight) ออกมาเป็นชุดที่มีคู่สีที่ถูกถ่ายทอดผ่านบรรยากาศของแสงสีอุ่นที่กำลังถูกทอผ่านก้อนเมฆจนท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนสี จากสีแดงกลายเป็นสีม่วง จนกระทั่งเข้าสู่ความมืดมิดของยามค่ำคืน เป็นต้น”

WISHARAWISH (วิชระวิชญ์) ในคอลเลคชั่นนี้พาคุณรำลึกถึงความรื่นรมย์ทั้งปวงในช่วงเวลาของการพักผ่อนหย่อนใจที่เขาได้รับทุกครั้งที่ได้เดินทางไปสัมผัสท้องทะเลอันดามัน วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ใช้คู่สีในการนำเสนอรูปแบบและช่วงเวลาของชีวิตริมชายหาดที่หมุนวนอยู่กับความงดงามของแสงสุดท้ายจากดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า ณ ช่วงเวลา “แสงสนธยา” (Twilight) ในขณะที่แสงสีอุ่นกำลังถูกทอผ่านก้อนเมฆจนท้องฟ้าค่อยๆ เปลี่ยนสี จากสีแดงกลายเป็นสีม่วง จนกระทั่งเข้าสู่ความมืดมิดของยามค่ำคืน ที่มีเพียงแรงลมและเสียงของเกลียวคลื่นซึ่งถูกถ่ายทอดผ่าน silhouette (ซิลลูเอท) ของชุดและเอกลักษณ์ผืนผ้าท้องถิ่น อันดามันที่พลิ้วไหวในทุกก้าวเดิน บรรยากาศของการพักผ่อนถูกจำลองผ่านเทคนิคการออกแบบแพทเทิร์นและการตัดเย็บที่ซับซ้อนให้เกิดเป็นรูปทรงที่เรียบง่ายแต่กลับทรงพลังในการปลุกเร้าประสาทสัมผัสของเรา ให้หวนกลับไปนึกถึงห้วงเวลาแห่งความสุขที่เราได้ใช้ ณ ริมหาดทราย และท้องทะเลอันสวยงาม.

Previous
Previous

KENZO งานอาร์ตผสานวัฒนธรรมที่ต้องตีความจึงเข้าใจ

Next
Next

ดนตรียุค 70 แรงบันดาลใจของ LANDMEE F/W 2019