Van Cleef & Arpels “ตำนานแห่งเพชร – คอลเล็กชั่น 25 เครื่องประดับซ่อนหนามเตย”
“ตำนานแห่งเพชร – คอลเล็กชั่น 25 เครื่องประดับซ่อนหนามเตย” หรือ Legend of diamonds – 25 Mystery Set Jewels collection ได้เริ่มต้นขึ้นระหว่างปี 2018 ในวันที่ Taché (ตาเช่) บริษัทตัวแทนจำหน่ายเพชรชื่อดัง และเป็นพันธมิตรธุรกิจระยะยาวได้นำเพชรดิบก้อนหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นถูกเรียกว่า “ตำนานเลอโซโธ” (Lesotho Legend) เพื่อเป็นยกย่องเกียรติภูมิให้แก่ประเทศเลอโซโธอันโด่งดังเป็นที่รู้จักจากการทำเหมืองเพชร มานำเสนอต่อ Van Cleef & Arpels ด้วยน้ำหนักแรกเริ่มอันสูงถึง 910 กะรัต จึงเท่ากับว่านี่เป็นเพชรดิบ หรือเพชรหยาบซึ่งมีขนาดใหญ่สุดอันดับห้าของโลกทั้งในแง่ของขนาด และคุณภาพเท่าที่เคยมีการขุดค้นพบภายในเหมือง
Van Cleef & Arpels ในการธำรงรักษ์สไตล์อันเป็นที่รู้จัก และจดจำได้ในทันทีที่พบเห็นให้ถูกถ่ายทอด และแสดงตัวผ่านผลงานเครื่องประดับทั้ง 25 ชิ้นของคอลเล็กชั่น กลุ่มนักออกแบบทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกันไปกับบรรดานักอัญมณีศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ และแผนกผลิตงานเครื่องประดับชั้นสูง (High Jewelry Workshops) เพื่อพัฒนาตัวเรือนเครื่องประดับควบคู่ไปกับการนำเทคนิคล้ำค่าสำหรับใช้ฝังอัญมณีขึ้นโครงสร้างอันล้วนได้รับแรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์ยาวนานของเมซง
โดยมุ่งหมายให้เป็นเวทีรองรับความงดงามตระการตาของบรรดาเพชรน้ำหนึ่งทั้งหลายซึ่งสกัดมาได้จากก้อนเพชรดิบขนาดมหึมา แต่ละตัวเรือนกับเทคนิคการฝังอัญมณีที่ถูกเลือกมาใช้เฉพาะกับแต่ละงานออกแบบนั้น เป็นอีกงานออกแบบ และพัฒนาสรรค์สร้างผ่านการร่วมงานของแผนกต่างๆ บนเส้นทางสายปรารถนาที่จะเผยประกายสุกสว่างพร่างพรายของบรรดาอัญมณี พร้อมทวีความโดดเด่นให้แก่งานฝีมือเจียระไน
แต่ละหน้าตัดกับทุกเหลี่ยมมุมสุดวิจิตรซับซ้อน ได้ร่วมกันแสดงให้เห็นถึงความชำนาญอันเป็นเลิศกับสไตล์เอกลักษณ์ของเมซง บนครรลองของภารกิจคราวนี้ Van Cleef & Arpels เลือกที่จะบรรจงประดับรัตนชาติแต่ละเม็ดด้วยเทคนิคขึ้นตัวเรือนซ่อนหนามเตย ซึ่งได้รับจดสิทธิบัตรคุ้มครองเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะ รวมถึงจดทะเบียนการค้าชื่อเรียกทางการว่า Mystery Set หนึ่งในลูกเล่นสุดแยบยล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ไหวพริบพลิกแพลงทักษะความชำนาญ อันมีปรากฏขึ้นได้ก็เพียงที่ห้องผลิตงาน ณ จัตุรัสว็องโดมเท่านั้น
นอกจากการใช้เส้นทรงโค้งเว้าเย้ายวนร่วมกับลีลาสลับสีตัดกันอย่างสดใสจากทับทิม, ไพลิน และมรกตแล้ว สตูดิโอออกแบบยังทุ่มเทให้กับการหลอมรวมประกายแสงสุกสว่าง, ความเบาของมวลน้ำหนัก และจังหวะการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องผ่านการประกอบ, จัดตำแหน่ง และร้อยเรียงวัสดุล้ำค่าต่างๆ ไว้บนโครงสร้างเดียว นอกจากนั้น ภายในคอลเลคชัน ทั้งโบว์สามมิติ, ริบบินคลายปม อ่อนช้อย และสัดส่วนอสมมาตร ต่างถ่ายทอดกระแสพลังแห่งจินตนาการลงสู่ชิ้นงานได้อย่างละเมียดละไม
VAN CLEEF & ARPELS
เพชร: ภารกิจแห่งปรารถนาบนครรลองเวลากว่าหนึ่งศตวรรษ
“หนึ่งในตู้โชว์หน้าต่างร้านมีเพชรเจียระไนทรงลูกแพร์ขนาดมโหฬารระดับประวัติศาสตร์เม็ดหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันในนาม พรินซ์ เอ็ดเวิร์ดออฟยอร์ก (Prince Edward of York) เคยเป็นของราชวงศ์อังกฤษ ประกายพรายพราวสกาวแสงในน้ำเพชรเต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจดึงดูดราวกับแม่เหล็กขนาดยักษ์ สะกดสายตาผู้ที่ผ่านไปผ่านมาตลอดวันให้ต้องหยุดยืน จับจ้องอย่างหลงใหลราวต้องมนต์เสน่ห์อัศจรรย์ในความงดงาม” นี่คือบทคัดลอกจากบทความซึ่งถูกตีพิมพ์ใน Daily Mail Continental Edition ฉบับวันที่ 25 ธันวาคม 1921 พรรณนาถึงนิทรรศการ และงานประมูลซึ่ง Van Cleef & Arpels จัดขึ้น ณ จัตุรัสว็องโดม ท่ามกลางบรรดาผลงานสร้างสรรค์สุดวิจิตร บรรจงทั้งหลายคือสร้อยคอเส้นหนึ่ง จรัสประกายล้อแสงระยิบระยับตระการตาด้วยเพชรล้วนหลากขนาด อันรวมถึงจี้ประดับประกอบขึ้นจากเพชรเดี่ยวขนาด 25 กะรัตเจียระไนเหลี่ยมเกสรทรงเม็ดข้าวสารหรือมาร์คีส์ (marquise-cut brilliant) กับเพชรเหลี่ยมเกสรทรงหยดน้ำหรือลูกแพร์(pear-shaped\ brilliant) น้ำหนักกว่า 60 กะรัต เจ้าของสมญา “พรินซ์ เอ็ดเวิร์ด ออฟ ยอร์ก” อันเป็นเพชรลูกขนาดใหญ่เม็ดแรกที่เมซงได้มาและทำการปรับแต่งขึ้นตัวเรือนใหม่ เพชรระดับตำนานเม็ดนี้ถูกค้นพบในเหมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley) ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อปี 1894 โดยมีเรื่องเล่าขานว่าได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติในวาระประสูติของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ราชนัดดาพระองค์ใหญ่ในสมเด็จพระบรม-ราชินีนาถวิกตอเรีย ว่าที่ดยุคแห่งวินด์เซอร์ สร้อยคอเส้นนี้สะท้อนถึงรสนิยมอันมีต่อรัตนชาติทรงค่าหายากอย่างที่สุด บนหนทางภารกิจเสาะแสวงซึ่งให้ความสำคัญยิ่งยวดต่อเวลา ความอดทน และวิริยะบากบั่น จนกลายเป็นมรดกสืบทอดส่งผ่านกันสู่รุ่นต่อรุ่นของเมซง
Blue Heart
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 1953 นิตยสาร ปวงต์ เดอ วู (Point de Vue: มุมมอง) เขียนพรรณนาถึงเหตุการณ์แห่งความปลื้มปีตินั้นไว้ว่า “นักระบำปลายเท้าชื่อดังมองดูเงาตัวเองในกระจก และกรีดเสียงอุทานออกมาเบาๆ อย่างพึงใจ หนึ่งในผู้อำนวยการของ Van Cleef & Arpels เพิ่งกลัดตะขอสายสร้อยคอห้อยจี้เพชรน้ำงามที่สุดของโลกนามหัวใจสีน้ำเงินหรือ Blue Heart ทุกอย่างล้วนเต็มไปด้วยความวิจิตรตระการตาเสียจนตัดสินใจไม่ถูกว่าควรชื่นชมในสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่างน้ำเพชรอันกระจ่างหมดจดปราศจากตำหนิ หรือประกายสุกสว่างระยับตาอย่างมิอาจหาใดเปรียบ” (ภาพวาดลายเส้นเพชรสีน้ำเงิน Blue Heart ที่ใช้ขึ้นตัวเรือนจี้สร้อยคอเมื่อประมาณปี 1953 จากแผนกจัดเก็บหลักฐานผลงานประวัติศาสตร์)