Van Cleef & Arpels ร่วมจัดนิทรรศการ “เลอค่ารัตนชาติ”
เนื่องในการจัดนิทรรศการ “เลอค่ารัตนชาติ” หรือ “Pierres précieuses” ระหว่างวันที่ 16 กันยายน 2020 จนถึง 14 มิถุนายน 2021 ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (Muséum national d’Histoire naturelle) ณ กรุงปารีส
Van Cleef & Arpels ได้นำผลงานอันทรงเอกลักษณ์ ซึ่งสรรค์สร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับโอกาสสำคัญครั้งนี้มาร่วมจัดแสดง “ผาศิลามหัศจรรย์” หรือ Rocher aux merveilles (โรแชร โอซ์ แมรเวยซ์) คือ บทสะท้อนถึงแนวคิดการจัดนิทรรศการ พลอยดิบในรูปแบบของหินหยาบถูกนำมาจัดวางเคียงข้างกับบรรดาผลงานสร้างสรรค์ทั้งเก้าภายในเวทีการจัดแสดงสุดล้ำค่าผลงานอันหล่อหลอมขึ้นจากจินตนาการ และทักษะความชำนาญของมนุษยชาติถ่ายทอดทัศนียภาพสุดวิจิตรแห่งดินแดนในฝัน ถิ่นฐานที่อยู่ของมวลพฤกษาและสิงสาราสัตว์ในเทพนิยายครั้งนี้ ถือเป็นบทบรรจบระหว่างศิลปะแห่งการสรรค์สร้างเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูงกับศาสตร์หินแร่วิทยาในการจุดประกายพิศวง อัศจรรย์ใจ ปลุกจินตนาการ บันดาลความรื่นรมย์อย่างแท้จริง
“ผาศิลามหัศจรรย์ Rocher aux merveilles คือบทสรุปเนื้อหาของนิทรรศการ “เลอค่ารัตนชาติ” ด้วยการผสมผสานองค์ประกอบต่างๆ ในศาสตร์ว่าด้วยหินแร่วิทยา เข้ากับไหวพริบ ความชำนาญทางการผลิตเครื่องประดับอัญมณี มิติที่ถูกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงทั้งสองนี้ กลับเหมือนกันอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างความหลงใหล ควรค่าต่อการสะกดความรู้สึก และช่างกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับอาณาจักรของเมซง ดินแดนแห่งการสรรค์สร้างเรื่องราวอันเปี่ยมเสน่ห์ จรรโลงสุนทรียรมณ์” นิโคลาส บอส ประธานและซีอีโอแห่ง Van Cleef & Arpels กล่าว
ภูผาหินพลอยสมุทรลาพิซ ลาซูลิ ผงาดตัวขึ้นมาจากที่ราบผลึกควอร์ตซ์ขาวลายริ้วหินอ่อนสีฟ้าสดราวกับ อยู่ในความฝัน ในส่วนของเชิงเขาท่ามกลางพงไพรพลอยรุ้งทุรมาลีคือตัวคิเมียรา เจ้าของกายารัตนชาติหมอบร่างกางปีกอย่างยิ่งยงคอยปกปักษ์ขุมทรัพย์ล้ำค่าสำคัญอันได้แก่ธำมรงค์หัวพลอยรุ้งสองสี ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ยูนิคอร์นกับสองนางฟ้า ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์แห่งนี้เช่นเดียวกัน กำลังพักกายอยู่ในวงล้อมของมวลพฤกษาที่กำลังผลิบานรับความสดชื่นจากละอองเพชรสลับไพลินที่กระเซ็นมาจากธารน้ำตกไหลริน ความวิจิตรตระการตาของทัศนียภาพแดนฝันดุจจำลองฉากในเทพนิยาย และมหากาพย์ยุคบาโรก อย่าง ออร์แลนโด ฟูริโอโซ Orlando Furioso บทกวีซึ่งรจนาขึ้นโดย ลูโอวิโก อาริออสโต แห่งนี้ จึงหาได้ต่างอะไรจากจุดบรรจบ ระหว่างอาณาจักรรัตนชาติเลอค่าและโลกแห่งจินตนิยาย ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของ Van Cleef & Arpels อยู่ตลอดเวลา
นับแต่ก่อตั้ง เมซงมีความละเอียดอ่อนอย่างสูงในการถ่ายทอดความประทับใจต่อเรื่องราวมหัศจรรย์ และความวิจิตรบรรจงในจินตนิยายชวนฝันผ่านผลงานสร้างสรรค์อันหลากหลาย ซึ่งหลายครั้งได้กลายเป็นอีกหนึ่งอาณาจักรสถานสถิตของบรรดาทวยเทพ และมวลนางฟ้ากับสิงสาราสัตว์ในเทวตำนาน เช่นเดียวกันกับสวนรุกขชาติสุดวิจิตรบรรจง เพื่อสืบสานความเป็นนิรันดร์ให้แก่ศิลปะการรังสรรค์ความรื่นรมย์ อันเป็นที่รักยิ่งของเมซง
ผาศิลา Rocher aux merveilles ยังเป็นบทสะท้อนถึงอีกผลงาน ซึ่งได้รับการนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ นั่นก็คือ “ต้นทุรมาลี” L’Arbre aux tourmalines (ลาร์เบรอะ โอซ์ ทูรมาลีนส์) ของฌอง ว็องโดม ต้นไม้ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นจากลำต้นโลหะล้ำค่าประดับใบทำจากแผ่นพลอยรุ้งสีเขียว และสีชมพูราสพ์เบอร์รีร่วมกับ อัญมณีหลากสีชนิดอื่นๆ อันแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ทรงเอกลักษณณ์ของนักวิชาการผู้หลงใหลในศาสตร์แห่งหินแร่วิทยาเสียจนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกแนวทางศิลปะเครื่องประดับอัญมณีร่วมสมัย
ผลงานอันประกอบขึ้นจากพลอยดิบในรูปแบบของหินหยาบ และหินขัดผิว รวมถึงบรรดาเครื่องประดับอัญมณีที่สามารถปลดออกได้นี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นประติมากรรมหินแร่ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนอันล้วนมีความเป็นเอกเทศในตัวกลับสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน เฉกเช่นระบบพหุชีวิตในธรรมชาติสตูดิโอออกแบบแผนก รัตนชาติและห้องผลิตงานของ Van Cleef & Arpels ที่จัตุรัสว็องโดม ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้กำเนิดผลงานชิ้นนี้ ต้องใช้เวลาเกือบสองปีกว่าจะทำให้ศิลปวัตถุชิ้นนี้ปรากฏขึ้นดุจมีชีวิต เพื่ออยู่ร่วมกับผลงานสร้างสรรค์อีกเก้าชิ้น ทันทีที่งานออกแบบนี้ถูกเลือกจากแผ่นร่างนำเสนอผลงานหลายชิ้น ทีมนักอัญมณศาสตร์ต่างรีบรุดเสาะหาวัตถุเลอค่าอันตรงตามมาตรฐานระดับสูงสุดเคร่งครัดของศิลปะเครื่องประดับชั้นสูง ทั้งในส่วนของพลอยดิบ และรัตนชาติซึ่งผ่านการเจียระไนแล้ว
“เราเลือกพลอยดิบในรูปแบบของหินหยาบเหล่านี้มาจากบรรดาตัวเลือกนับหลายร้อย หินพลอยเหล่านี้มีคุณภาพสูงมากเสียจนเราสามารถนำมาตัดเจียน และเจียระไนไปทำเครื่อง ประดับอัญมณีชั้นสูงได้อย่างดี เรายืนกรานที่จะใช้พลอยดิบคุณภาพสูงเทียบเท่ารัตนชาติซึ่งผ่านการเจียระไนหน้าตัด และเหลี่ยมมุมแล้ว” ทีมนักอัญมณศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจาก Van Cleef & Arpels
หัวใจของโครงสร้างภูผามหัศจรรย์ Rocher aux merveilles นี้อยู่ที่ผลึกหินหยาบของพลอยดิบของลาพิซ ลาซูลิ หรือพลอยน้ำสมุทรขนาด 6.2 กิโลกรัม ซึ่งถูกเลือกมาจากรูปทรง และพื้นผิวอันเต็มไปด้วยความขรุขระ เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมที่ปราศจากความสม่ำเสมอเฉกเช่นที่จะเห็นได้ตามสัณฐานของขุนเขาศิลาอันสูงชัน ในขณะ เดียวกันก็สะกดทุกสายตาด้วยสีฟ้าสดจรัสประกายโดยเนื้อแท้ การนำมาใช้งานในรูปแบบของหินหยาบ ไร้การเจียระไนใดๆ ด้วยรูปลักษณ์ดั้งเดิมตามที่ธรรมชาติได้จรรโลงไว้ ทำให้ผลงานวัตถุนี้มีเอกลักษณ์ในเชิงคุณภาพอย่างโดดเด่น ส่วนแท่งหินควอร์ตซ์ขนาด 13 กิโลกรัมในสภาพ “กึ่งหยาบ” เพราะถูกตัด และขัดผิวเฉพาะบางส่วนให้เรียบพอจะเป็นแท่นฐานรองรับเขาหินพลอยทะเลก้อนนี้ได้อย่างมั่นคง
จากนั้น ผลึกพลอยรุ้งทุรมาลี หรือทัวร์มาลีนสามสิบสองเม็ดน้ำหนักรวม 2,171 กะรัต ก็ถูกนำมาจัดวางเป็นป่าหินจำแลงทอประกายสุกใสเจิดจ้าตัดกับฐานพสุธาที่รองรับ ตามกระบวนการวิจัยอันซับซ้อน เหล่านักทำเครื่องประดับได้คิดค้น และออกแบบวิธีการยึดตัวทุรมาลีเหล่านี้ ให้ติดกับแผ่นผาลาพิซ ลาซูลิและผลึกควอร์ตซ์อย่างแน่นหนาในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจได้ว่าแต่ละองค์ประกอบยังคงสภาพเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
รัตนชาติซึ่งผ่านการเจียระไน และขัดผิวสำหรับใช้ตกแต่งเครื่องประดับทั้งหลาย ได้รับการฝังขึ้นตัวเรือนด้วยวิธีการแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฝังปิด, ฝังกึ่งหุ้ม, งานฝังหนีบ, เขี้ยวหนามเตย ตลอดจนการฝังสอดรางเรียวแถวแบบพรมหิมะ “แซรติ แนช” (serti neige) ความหลากหลายทางเทคนิคเช่นนี้ ได้ช่วยทวีความงดงามให้มวลรัตนชาติ พร้อมกับเติมประกายสว่างสดใส มีชีวิตชีวาให้แก่เครื่องประดับแต่ละชิ้น
ในฐานะผลงานศิลปะวัตถุอันทรงเอกลักษณ์ อีกทั้งยังต้องรองรับบรรดาเครื่องประดับซึ่งพลิกแพลง ดัดแปลงวิธีสวมใส่ได้ถึงเก้าชิ้น อัศจรรย์บรรพต Rocher aux merveilles ถือเป็นโจทย์ท้าทายความสามารถของทีมผู้ชำนาญแขนงต่างๆ ประจำเมซง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของห้องผลิตงานที่ต้องรับผิดชอบด้านเทคนิคการผลิตโดยตรง ระหว่างขั้นตอนขึ้นโครงสร้างจำลองงานออกแบบ, การปั้น และแกะสลักไขแว็กซ์เพื่อเป็นต้นแบบหล่อแม่พิมพ์ตัวนางฟ้า และยูนิคอร์น, การตัดเจียน และเจียระไนรัตนชาติทั้งหลาย, งานประกอบชิ้นส่วน, งานฝีมือในเชิงรายละเอียดของเครื่องประดับ, งานฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือน และงานขัดผิว ทั้งหมดต้องใช้เวลาโดยรวมแล้วเกือบ 6,400 ชั่วโมงเพื่อให้งานชิ้นนี้สัมฤทธิ์ผล ตลอดกระบวนการ ต้องอาศัยเวลากว่า 4,700 ชั่วโมงไปกับงานทำโครงสร้าง และตัวเรือนเครื่องประดับ กว่า 1,200 ชั่วโมงหมดไปกับขั้นตอนการฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือน และการขัดผิวที่กินเวลาเกือบ 500 ชั่วโมง
ในการคลี่คลายโจทย์ท้าทายความสามารถเชิงเทคนิคต่างสาขา ทั้งในแง่ของการติดตั้ง หรือการยึดติดองค์ประกอบทั้งหลายเข้าด้วยกัน และในประเด็นของการประดิษฐ์กลไกเพื่อแปรรูป หรือดัดแปลงเครื่องประดับแต่ละชิ้นเป็นอาทิ ล้วนจำเป็นต้องอาศัยไหวพริบ และความชำนาญในส่วนของช่างฝีมือ ท่ามกลางการหลอมรวมทักษะแขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน นำไปสู่การถือกำเนิดศิลปวัตถุซึ่งจุดประกายความสนใจ ดึงดูดทุกสายตาผู้พบเห็นให้เข้ามาใกล้เพื่อชื่นชมในทุกมวลรายละเอียด พร้อมกับได้ค้นพบบรรดาความลับที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน
เมซงสรรค์สร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นจากจินตนาการอันมีต่อภาวะเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิทัศน์ องค์ประกอบต่างๆ ในทัศนียภาพที่ปรากฏ ล้วนสามารถเคลื่อนย้ายไปจากฐานรองรับเพื่อดัดแปลง ก่อกำเนิดเป็นผลงานชิ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้ Rocher aux merveilles จึงคู่ควรกับความหมายของ “ภูผามหัศจรรย์” อันชวนให้นึกถึงตำนานยอดเขาโอลิมปัส หรือขุนเขาหิมพานต์ ซึ่งเป็นเสมือนแดนกำเนิด และดำรงอยู่ของเครื่องประดับชั้นสูงอีกเก้าชิ้นที่สามารถแยกตัวไปใช้สวมใส่เป็นแหวน, เข็มกลัด, จี้สร้อยคอ, ต่างหู และกำไลข้อมือได้ตามปรารถนา