2 ไอเดียสุดเฉียบจากเวที ‘AI & ROBOTICS HACKATHON 2021’ ปิดช่องโหว่ธุรกิจ

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป หลายท่านคงยังไม่ทราบว่าในประเทศไทยเองเรามีหน่วยงานภาคเอกชนอย่าง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (AI and Robotics Ventures (ARV) บริษัทเอกชนชั้นนำที่จัดตั้งโดย กลุ่มของ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. (PTTEP) เพื่อมุ่งผลักดันธุรกิจสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

ดร.ธนา สราญเวทย์

ล่าสุดได้เกิดโปรเจคดีๆ ที่ทำให้มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้น 2  ไอเดียสุดเฉียบจากเวที ‘AI & ROBOTICS HACKATHON 2021’ ที่จะมาช่วยปิดช่องโหว่ของธุรกิจพร้อมเล็งต่อยอดจริงในอีก 4 ธุรกิจเครือ ปตท.สผ. โดยงานนี้เป็นหนึ่งเวทีที่มีส่วนช่วยขจัดจุดอ่อนให้องค์กรธุรกิจได้เป็นอย่างดี จากการรวมตัวของเหล่าโปรแกรมเมอร์ ที่มีครีเอทีฟสูงในการสรรค์สร้างนวัตกรรม อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยผู้เข้าแข่งขันกว่า 30 ทีม ต่างช่วยระดมสมอง ตกตะกอนความคิดจนนำมาซึ่ง Business Model ที่น่าสนใจเพื่อการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (Prototype) หรือโซลูชัน (Solution) ที่สดใหม่ในระยะเวลาอันสั้น พร้อมนำเสนอ (Pitching) ต่อหน้าคณะกรรมการ

บริษัท เออาร์วี จัดงาน “AI & ROBOTICS HACKATHON 2021” ขึ้นเพื่อเฟ้นหาสุดยอดทีมนักพัฒนาที่สนใจเทคโนโลยีและอยากท้าทายตัวเอง โดยมาร่วมโชว์ศักยภาพในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาโซลูชันใหม่ซึ่งสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับโลกไซเบอร์ ทั้งปกป้องข้อมูล และแก้ไขช่องโหว่ของระบบที่มีในปัจจุบัน งานนี้เป็นการผลักดันขีดความสามารถของเอไอให้ดียิ่งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในกลุ่มของ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. สผ. (PTTEP) ให้เป็นตามเจตนารมณ์การก่อตั้งบริษัท

ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์, ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์, สินธู ศตวิริยะ

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์วี กล่าวถึงงานนี้ว่า “สำหรับการจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แม้จะเป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ 100% ในระยะเวลาที่จำกัด สะท้อนให้เห็นได้จากเสียงตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่ต่างพยายามทำความเข้าใจในโจทย์การแข่งขัน ซึ่งในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างซับซ้อนและเฉพาะทาง โจทย์แรก ได้แก่ ‘Cyber Security Track’ การยกระดับความสามารถและขีดจำกัดของ Digital Wallet ให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้งาน และ โจทย์สอง ‘Subsea Machine Learning Track’ ซึ่งเป็นการออกแบบ Machine Learning Model ให้มีความสามารถในการตรวจจับและแยกแยะวัตถุใต้ท้องทะเล โดยภาพรวมผู้เข้าแข่งขันสามารถนำเสนอโซลูชันใหม่ในทั้ง 2 โจทย์ได้อย่างตรงจุด”

สินธู ศตวิริยะ

ทางด้าน สินธู ศตวิริยะ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจ บริษัท เออาร์วี กล่าวถึงด้านโจทย์การแข่งขันหัวข้อ ‘Cyber Security Track’ ว่า “ARV เล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจด้าน Cyber Security ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทางการตลาดระดับโลกสูงกว่าแสนล้านเหรียญต่อปี ขณะที่ระดับภูมิภาคอาเซียน มีมูลค่ากว่าพันล้านเหรียญต่อปี นอกจากนี้ ยังมีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่องมากกว่า 12% ต่อปี ซึ่งจากการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันสามารถยกระดับความปลอดภัยในการเข้าถึง Digital Wallet ได้อย่างเหนือชั้นและปลอดภัยยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น บล็อกเชน (Blockchain) ด้วยระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง และการใช้ ไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) ที่แสดงอัตลักษณ์รายบุคคล และ คริปโตกราฟี (Cryptography) มาเพิ่มความปลอดภัย ทำให้มีเพียงผู้ใช้งานเท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดย ARV มีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ไอเดียธุรกิจที่ผู้เข้าแข่งได้นำเสนอมานั้นสามารถต่อยอดได้จริง”

ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ และทีมงานบริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด

สำหรับหัวข้อ ‘Subsea Machine Learning Track’ ซึ่งเป็นโจทย์ที่สอง ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวถึงไว้ว่า “ธุรกิจด้าน Subsea ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งทรัพยากรภาคพื้นน้ำที่ ปตท. สผ. ให้ความสำคัญและสนใจมากเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่ง ARV ต้องการให้เทคโนโลยีหรือโซลูชันใหม่ เข้าไปประยุกต์ใช้ในการสำรวจแหล่งทรัพยากรภาคพื้นน้ำที่มีกว่า 71% ของโลก ทั้งแร่ธาตุ แก๊สธรรมชาติ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ดังนั้น ARV จึงมอบโจทย์ที่ท้าทายนี้ให้กับผู้เข้าแข่งขันในการคิดหาอัลกอริทึม (Algorithm) หรือกระบวนการเรียนรู้แนวใหม่เพื่อให้แมชชีนมีความสามารถในการประมวลผลภาพ (Image Processing) ได้แม่นยำขึ้น ผ่านข้อจำกัดด้านชุดข้อมูลภาพ (Data Set) ที่มีจำนวนค่อนข้างน้อย เทียบกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากในการออกสู่ทะเล เพื่อไปเก็บข้อมูลเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้เข้าแข่งขันสามารถนำเสนอไอเดียถึงกระบวนการคิดและรูปแบบการประยุกต์ใช้ที่แปลกใหม่ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีการนำเสนอถึงผลลัพธ์ได้เป็นที่น่าพอใจ ด้วยการนำโมเดลสามมิติ (3D Model) มาใช้ในการสังเคราะห์ข้อมูล (Synthesis Data) ที่นับได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ น่าสนใจ และตอบโจทย์สำหรับธุรกิจของ ARV เป็นอย่างมาก”  

บรรยากาศการแข่งขัน - Cyber Security

ตัวแทนทีม 1000X ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันในโจทย์ที่ 1 ‘Cyber Security Track’ ด้วยเรื่อง “การใช้ Blockchain ผนวก Cryptography แก้ปัญหาจากประสบการณ์ที่เคยพบเจอเพื่อเข้าถึงข้อมูลประกันสุขภาพของคนไทย” ได้เล่าว่า “สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้นับว่าสร้างความท้าทายให้ตนและเพื่อนร่วมทีมอย่างมาก ด้วยพื้นฐานที่เรามีจุดแข็งด้าน Coding ที่มีคุณภาพ ประกอบกับความสนใจด้าน Blockchain ของทีม รวมถึงมีการทดสอบ Demo ที่สามารถพัฒนาออกมาแล้วใช้งานได้จริง จึงทำให้สามารถเอาชนะผู้เข้าแข่งขันทีมอื่นได้ ทั้งนี้ทีม 1000X ขอขอบคุณโอกาสดีๆ จาก ARV รวมถึงเมนเทอร์ (Mentor) ทุกท่านที่ช่วยแนะแนวการคิด/ตีโจทย์ให้แตก ช่วยปรับปรุง Structure ต่างๆ ว่าควรไปในทิศทางไหน ช่วยให้ทีมมีมุมมองทางธุรกิจที่กว้างและรอบด้านขึ้น นับเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทีมได้รับความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ จำนวนมาก”

บรรยากาศการแข่งขัน - Subsea ML

ทางด้านตัวแทนทีม Band of Brothers ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันในโจทย์ที่ 2 ‘Subsea Machine Learning Track’ ด้วยเรื่อง “การขยายโอกาสธุรกิจภาคพื้นทะเล ด้วยอัลกอริทึม YOLO เทรนการรับรู้-จดจำ-แยกแยะวัตถุใต้น้ำของหุ่นยนต์” กล่าวว่า “โจทย์การพัฒนา Machine ให้มีความสามารถในการจดจำ แยกแยะภาพและตรวจจับวัตถุได้แม่นยำ ภายใต้ข้อจำกัดด้านข้อมูล นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก แต่ด้วยการทำงานเป็นทีม รวมถึงการดึงเอาเทคนิคต่างๆ มาจัดการ Data เพื่อทำให้ Object Detection มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ออกแบบกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ มี Pre-Process จนถึง Post-Process ทำให้สามารถ Generate Data ได้สมจริง จึงสามารถแก้ไขโจทย์ที่ท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ทีม Band of Brothers ขอขอบคุณ ARV ที่ได้จัดการแข่งขันครั้งนี้ขึ้น และมอบประสบการณ์การแข่งขันที่ถือเป็นการขัดเกลาฝีมือ ทำให้ทีมได้รับทักษะใหม่จำนวนมากในเวลาอันสั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากวิทยากรและได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ นับเป็นโอกาสที่ดีของ Developer และ Startup รุ่นใหม่อย่างมาก”

ดร.ธนา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบัน ARV อยู่ในบทบาทของการเป็นผู้สร้างธุรกิจ (Business Builder) ที่สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดในทุกมิติ ผ่าน 4 ธุรกิจนำร่องที่ถือเป็น New Business S-Curve ให้กับ ปตท.สผ. และเชื่อว่ามีศักยภาพที่สามารถ Unlock Valuation ไปถึงระดับยูนิคอร์น (Unicorn) ได้ และที่ขาดไม่ได้ ต้องขอขอบคุณ คุณสินธู และ คุณภัคชนม์ ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ AI & ROBOTICS HACKATHON 2021 ให้สำเร็จด้วยดี อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของ ARV ที่ค่อนข้างมีความคล่องตัวสูง ทั้งในด้านการทำงาน การพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Joint Collaboration) ตลอดจนร่วมลงทุนในการพัฒนาธุรกิจหรือเทคโนโลยีในแง่มุมต่างๆ กับทุกๆ องค์กรที่สนใจ อีกทั้งยังถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้รู้จักและอาจจะได้ร่วมทำงานกับผู้เข้าแข่งขันที่มีความสามารถหลายๆ ท่านในอนาคตอีกด้วย”

การก้าวไกลไปในโลกของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์สำหรับประเทศไทยเชื่อว่าเรายังต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีทั้งไอเดียและจินตนาการมาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ อีกเยอะ จงอย่าเป็นแค่นักฝันแต่จงสร้างมันให้เป็นจริง ผู้เขียนหวังว่าเราจะได้เห็นโครงการดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมของ ARV ได้ทางเพจเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ AI and Robotics Ventures


Previous
Previous

สวิตซ์ อรูบ้า ซีเอ็กซ์ 10000 ซีรีส์จากเพนซานโด ครบทั้งความเร็วและความปลอดภัยให้ข้อมูล

Next
Next

ทุ่มงบประมาณกว่า 180 ล้าน สร้างอาคารเรียนใหม่ MIIX สู่การเป็นสถาบันนวัตกรรมแห่งความเป็นเลิศ