Van Cleef & Arpels จัดนิทรรศการ Florae ของช่างภาพชื่อดังชาวญี่ปุ่น Mika Ninagawa
Van Cleef & Arpels จัดนิทรรศการ Florae โดยนำความงดงามของภาพถ่ายมวลดอกไม้ของช่างภาพชื่อดังชาวญี่ปุ่น Mika Ninagawa มาเคียงคู่กับความงามของคอลเล็กชั่นพรรณพฤกษา หนึ่งในแรงบันดาลหลักประจำเมซง
Van Cleef & Arpels เปิดทางให้กับ มิกะ นินะกาวะ (Mika Ninagawa) ช่างภาพผู้โด่งดัง มีอิสระอย่างเต็มที่ในการใช้มุมมองส่วนตัวออกแบบนิทรรศการ เพื่อยกย่องความวิจิตรงดงามของมวลดอกไม้ ผ่านการจัดแสดงผลงานของเธอเคียงคู่กับบรรดาเครื่องประดับพรรณพฤกษาของเมซง ท่ามกลางบรรยากาศการไอเดียการจัดวางและการตกแต่ง ของสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่นอย่าง สึโยชิ ทาเนะ (Tsuyoshi Tane)
ผลงานกว่าหนึ่งร้อยชิ้นจากคอลเลคชันอันเป็นมรดกทางการสร้างสรรค์ของ Van Cleef & Arpels รวมถึงกลุ่มเครื่องประดับร่วมสมัย ต่างมาจรัสประกายสุกสว่าง อยู่ร่วมกับบรรดาภาพถ่ายสีสันสดใสของศิลปินชาวญี่ปุ่น โดยนิทรรศการนี้จะทำการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10 กันยายนจนถึง 14 พฤศจิกายน 2021 ที่โรงแรมเอเวรอซ์ (Hôtel d’Évreux) ณ จัตุรัสว็องโดมแห่งมหานครปารีสภายใต้ชื่อ Florae (ฟลอราเอ) อันเปรียบประดุจดินแดนในฝันที่ได้ต้อนรับผู้มาเยือนให้ก้าวเดินเข้าสู่อุทยานจินตนาการ
โครงสร้างนิทรรศการแบ่งออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนล้วนสะท้อนถึงมุมมองร่วมของมิกะ นินะกาวะกับเมซง อันมีต่อมวลดอกไม้ในธรรมชาติ ลำดับแรกของพื้นที่นิทรรศการคือ naturalist aesthetic เป็นงานแสดงสุนทรียศิลป์แนวธรรมชาตินิยม ซึ่งให้ความสำคัญแก่ผลงานรังสรรค์เสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสรรพสีตามธรรมชาติ หรือน้ำหนักทรวดทวงของขนาดวงกลีบดอก ตลอดจนผิวสัมผัส และรายละเอียดปลีกย่อยเฉพาะตัวของดอกไม้แต่ละสายพันธุ์ ทั้งที่ปรากฏบนภาพถ่าย และบนชิ้นงานเครื่องประดับอย่าง เข็มกลัดดอกโบตั๋นตัวเรือนซ่อนหนามเตย (Mystery Set Peony clip) จากปี 1937 และนาฬิกาข้อมือดอกอย่าลืมฉัน (Myosotis watch)
Bouquets คือ พื้นที่นิทรรศการส่วนที่สอง ซึ่งเบนมาสู่ความงดงามของช่อดอกไม้ แสดงออกถึงความพิถีพิถัน และวิจิตรบรรจงในการจัดสัดส่วนองค์ประกอบอันเลอค่าที่ปรากฏบนผลงานหลายชิ้นของ Van Cleef & Arpels ระหว่างทศวรรษ 1930 ถึง 1940 ร่วมกับแปลงดอกไม้หลากสีละลานตาอย่างพุ่มกุหลาบบานสะพรั่งแบบที่ช่างภาพหญิงชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนสุดท้ายคือ stylized จัดแสดงผลงานการออกแบบซึ่งถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อมวลดอกไม้ผ่านลูกเล่นของการใช้เส้นกราฟิกร่วมกับรูปทรงเรขาคณิตผสานกับลีลาหลากเฉดแห่งสีสัน และการกำหนดจังหวะเพื่อสื่อถึงการเคลื่อนไหว หรือช่วงเวลาแห่งการผันเปลี่ยนตามลำดับวงจรชีวิต อิทธิพลจากศิลปะแขนงอื่นๆ อันรวมถึงแฟชันการแต่งกายอย่างเข็มกลัด “โครงเส้นทรวดทรง” (Silhouette clip) ให้การล้อแสงทอประกายสุกใสร่วมกันร่ายลีลานาฎกรรมจำแลงแห่งอัญมณีได้อย่างน่าพิศวง