ทีม FIKA จาก มทม. คว้ารางวัลรองชนะเลิศการแข่งขัน APSCO

ทีม FIKA จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) ร่วมกับ RV Connex คว้ารางวัลรองชนะเลิศการแข่งขัน APSCO ‘Competition on Discovering Historical Cultural Heritage with Eye in Space’ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

การแข่งขันครั้งนี้จัดโดยองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ ASPCO (Asia-Pacific Space Cooperation Organization) ร่วมกับ International Centre on Space Technologies for Natural and Cultural Heritage (HIST) ภายใต้การอุปถัมภ์ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) บริษัท PIESAT Information Technology Co., Ltd. (PIESAT), Belt and Road Aerospace Innovation Alliance (BRAIA), Belt and Road Cultural Heritage Global Alliance (BRCHGA) และ Commission on Geoheritage of the International Geographical Union (IGU-COG)

FIKA MUT TEAM

องค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก (APSCO) สำนักงานใหญ่ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศผลการตัดสินการแข่งขัน APSCO ‘Competition on Discovering Historical Cultural Heritage with Eye in Space’ รอบชิงชนะเลิศ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยรางวัลชนะเลิศเป็นทีมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รางวัลที่ 2  คือ ทีม FIKA จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ประเทศไทย และทีมจากประเทศอียิปต์ และรางวัลที่ 3 เป็นทีมจากประเทศปากีสถาน จีน และโรมาเนีย

สำหรับทีม FIKA เป็นการรวมตัวของนักวิจัยและวิศวกรจากมทม. และ  บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด ประกอบด้วยสมาชิก 4 คน นำทีมโดย ผศ.ดร. สุพงษา เขตต์คีรี อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ตำแหน่ง Instructor นายอนิวัฒน์ ปลอดภัย ตำแหน่ง Researcher ศูนย์วิจัยดาวเทียมไทพัฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และ นายบรรณกร เพชรทวีธรรม ตำแหน่ง Technical Specialist (GIS) นายอนวัตร ทองทา ตำแหน่ง Software Engineer บริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด โดยมี ผศ.ดร. สมพงษ์ เลี่ยงโรคาพาธ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ให้คำปรึกษาตั้งแต่เริ่มการแข่งขัน

การแข่งขัน APSCO ‘Competition on Discovering Historical Cultural Heritage with Eye in Space’ คือ การแข่งขันการค้นพบมรดกทางวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์โดยใช้อุปกรณ์รับรู้จากอวกาศ ที่เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกล (remote sensing) และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อวิเคราะห์และค้นหาโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์จากภาพที่คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนดให้ การแข่งขันดังกล่าวใช้ระยะเวลาการแข่งขัน  ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2564 ถึง 7 มกราคม 2565 ซึ่งรวมถึงการฝึก การแข่งขันเบื้องต้น และการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผ่านการนำเสนอในวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยเกณฑ์การตัดสินและการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การประมวลผลข้อมูลการรับรู้ระยะไกล การตีความซึ่งอิงจากการวิเคราะห์ที่ครอบคลุม และระบบสามมิติ (3D)/ความเป็นจริงเสมือน (VR)

สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ กองกิจการอวกาศแห่งชาติ (อช.) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้คัดเลือกตัวแทนประเทศไทย จำนวน 6 ทีม ได้แก่ ทีม SPACE OPS จากศูนย์ปฏิบัติการทางอวกาศ กองทัพอากาศ ทีม Super Gang จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีม KKU-R2G จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทีม FIKA จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ทีม Archaeo Discovery จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีม Black & Jack จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเข้าร่วมอบรม APSCO Training Course Remote Sensing Data Processing and Applications และการแข่งขัน APSCO Space Application Competition – Discovering Historical Heritage with Eye in Space เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ถึง 7 มกราคม 2565

จากจำนวนผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่า 200 คน หลังจากการประเมินรอบแรก มีเพียง 12 ทีมที่ผ่านการคัดเลือก จากทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 68 ทีม จาก 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ จีน อียิปต์ อิหร่าน เม็กซิโก มองโกเลีย ปากีสถาน เปรู โรมาเนีย ไทย และตุรกี โดยตัวแทนจากประเทศไทยที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกมี 2 ทีม คือ ทีม Archaeo Discovery จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีม FIKA จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งทั้งสองทีมได้นำเสนอผลงานการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 25 มกราคม 2565 ต่อคณะกรรมการการตัดสินผู้เชี่ยวชาญจำนวน 14 คน จากกลุ่มประเทศสมาชิกของ APSCO และองค์กรที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้

ความสำเร็จของทีม FIKA ที่คว้ารางวัลรองชนะเลิศในครั้งนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพและความร่วมมือของทีมนักวิจัย คณาจารย์และวิศวกรของมหาวิทยาลัยฯ และภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งมั่นพัฒนางานวิจัย สร้างสรรค์แนวคิดและผสมผสานเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เป็นนวัตกรรมระดับโลกได้เป็นอย่างดี และผลงานที่สร้างชื่อของนักวิจัย คณาจารย์และนักศึกษารุ่นพี่เหล่านี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายให้กับนักวิจัยและวิศวกรในรุ่นต่อไป  เพื่อสร้างเสริมทักษะและความเชี่ยวชาญอันจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทรงพลัง พร้อมสำหรับการต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยต่อไป


Previous
Previous

Samsung อัพเดทใหม่สำหรับ Galaxy Watch4 และ Galaxy Watch4 Classic

Next
Next

ยิบอินซอย ร่วมทุน Winnonie สตาร์ทอัพค่ายบางจากฯ หวังผลักดันการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์