Van Cleef & Arpels ร่วมแสดงผลงาน ใน Homo Faber 2022
Van Cleef & Arpels มีความยินดีที่จะประกาศถึงการเข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ “โอโม ฟาแบร” (Homo Faber exhibition) ครั้งที่สอง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 เมษายนจนถึง 1 พฤษภาคม 2022 ณ มูลินิธิจอร์โจ ซินิ (Giorgio Cini Foundation) บนเกาะซาน จอร์โจ มักโจเร ในเขตนครเวนิซ ประเทศอิตาลี
นิทรรศการโอโม ฟาแบร (หรือโฮโม แฟเบอร์) ครั้งที่สองนี้ เป็นเสมือนเวทีแสดงความสัมพันธ์เชื่อมต่อระหว่างหัตถกรรมญี่ปุ่นกับยุโรปบนพื้นที่จัดแบ่ง 15 แนวคิด ตลอดเวลากว่าสามสัปดาห์ ช่างฝีมือหัตถศิลป์, เมซง และนักออกแบบมากมายจะพากันมาร่วมนำเสนอความหลากหลายทางเทคนิค, วัสดุ และทักษะความชำนาญเฉพาะสาขา อันเป็นที่มาของการสร้างสรรค์ความเป็นเลิศให้แก่เครื่องประดับตกแต่ง ตลอดจนของใช้ต่างๆ และเพื่อเป็นตัวแทนความสลับซับซ้อนอย่างงามสง่าท่ามกลางบรรดาผลงานสร้างสรรค์
Van Cleef & Arpels จึงนำหนึ่งในศิลปะเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโจทย์ท้าทายความสามารถในเชิงเทคนิคอย่างใหญ่หลวงของเมซงมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ นั่นก็คือเครื่องประดับ “สร้อยสายซิป”
สร้อยคอสายซิปในฐานะศิลปะแห่งการพลิกแพลงแปลงรูป
ประวัติความเป็นมาของสร้อยคอสายซิปหรือ Zip necklace สืบย้อนกลับไปยังปลายทศวรรษ 1930 ก่อนหน้านั้น อุปกรณ์สำหรับยึดปลายผ้า หรือชายผ้า 2 ส่วนให้ติดกับเข้าด้วยกันอันมีนามว่า “ซิป” ถูกใช้ในการตัดเย็บเครื่องแบบนักบิน และกลาสีเรือเป็นหลัก จากนั้นในยุคสุดเหวี่ยง “รอริง ทเวนตี” ของทศวรรษ 1920 ตัวกลัดซิปได้เริ่มมีบทบาทในแวดวงแฟชันเครื่องแต่งกายและจุดประกายแรงบันดาลใจแก่เรอเน ปุยซ์ซางต์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของเมซงให้ออกแบบสร้างสรรค์เครื่องประดับ
อัญมณีในท้ายสุด เหนืออื่นใด สร้อยคอจำลองแบบกลไกสายซิป ซึ่งผลิตจากวัสดุเลอค่านานาชนิด
ยังสามารถดัดแปลงไปเป็นกำไลข้อมือได้อย่างแยบคาย โจทย์ท้าทายโดยแท้นั้นอยู่ที่การออกแบบโครงสร้างตัวเรือนทองคำ ซึ่งต้องอำนวยต่อการดึงพู่ประดับให้รูดเปิด และปิดได้อย่างราบรื่น คล่องตัวเฉกเช่นสายซิปในงานตัดเย็บเสื้อผ้า นอกจากนั้น ความต้องการที่จะให้สร้อยคอสายซิปจำแลงตัวไปเป็นกำไลข้อมือได้นั้น ยังส่งผลให้ภารกิจประดิษฐ์กรรมมีความลำบาก ยุ่งยากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น หลังจากการศึกษาวิจัยในเชิงเทคนิคอย่างละเอียดลึกซึ้ง เมซงจึงจดสิทธิบัตรคุ้มครองผลงานชิ้นนี้เมื่อปี 1938 อย่างไรก็ตาม แผนกห้องผลิตงานกลับสามารถสรรค์สร้างสร้อยคอสายซิปเส้นแรกขึ้นให้เสร็จสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อปี 1950 สืบเนื่องจากความผันผวนระหว่างภาวะสงครามโลกครั้งที่สองอันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการคิดค้นและพัฒนาเทคนิคซึ่งมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างสูง
สร้อยคอสายซิปของ Van Cleef & Arpels ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสุดยอดประดิษฐกรรมอันแยบคาย และท้าทายขนบธรรมเนียมเครื่องประดับชั้นสูง รายละเอียดแต่ละแง่มุมหาได้เพียงสะท้อนถึงความนิยมชมชอบที่เมซงมีต่อเครื่องประดับ ซึ่งสามารถดัดแปลงรูปทรงหรือพลิกแพลงวิธีการสวมใส่ได้ในตัวเท่านั้น ทว่ายังเป็นตัวอย่างผลงานอันได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะการตัดเย็บเสื้อผ้าแฟชันด้วยเช่นกัน ปัจจุบัน ธรรมเนียมประดิษฐ์สร้อยคอสายซิป ยังคงสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นผ่านการรังสรรค์ผลงานเอกลักษณ์ชิ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการใช้ลูกเล่นเชิงสุนทรียศิลป์ ร่วมกับวัสดุล้ำค่าอย่างหลากหลาย อีกทั้งยังโดดเด่นเป็นหนึ่งด้วยตัวเรือนโครงตาข่ายน้ำหนักเบาซึ่งมีความยืดหยุ่นระดับสูงเสมือนผ้าทอรองโลหะซิป ง่ายต่อการปรับ และดัดรูปทรงให้โอบกระชับสรีระของลำคอ หรือข้อมือได้อย่างง่ายดาย
เวทีแห่งไหวพริบในเชิงทักษะการสรรค์สร้างสร้อยสายซิป
สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ช่างทำเครื่องประดับอัญมณีผู้เปี่ยมพรสวรรค์ความสามารถทั้งหกของ
Van Cleef & Arpels จากรุ่นที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาปัจจุบัน ไปจนถึงระดับผู้เชี่ยวชาญประจำห้องผลิตงานแผนกเครื่องประดับชั้นสูงประจำกรุงปารีส จะมาร่วมกันจับคู่สาธิตไหวพริบในการพลิกแพลงทักษะความชำนาญอันจำเป็นต่อการสร้างสรรค์เครื่องประดับประดิษฐกรรมเหล่านี้ ตลอดจนแสดงถึงการถ่ายทอด ส่งผ่านองค์ความรู้แขนงต่างๆสู่กัน อันบังเกิดขึ้นเป็นประจำตามปรกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันภายในห้องผลิตงานแผนกต่างๆของเมซง
พื้นที่จัดแสดงฝีมือของ Van Cleef & Arpels ในครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมได้พบกับสร้อยคอ อันเป็นผลงานร่วมสมัยสองเส้น ซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษ และส่งตรงมาจากนครปารีสเพื่อร่วมนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ หนึ่งในนั้น อาศัยโครงสร้างตัวเรือนตาข่าย Ludo อันถือเป็นสัญลักษณ์ทางการออกแบบของเมซงมานับแต่ปีค.ศ.1954 มาใช้ในหลายคอลเลคชัน ณ ปัจจุบัน
ช่างหัตถกรทั้งหลายจะใช้ไหวพริบในการพลิกแพลงเทคนิคงานฝีมือแขนงต่างๆอย่างเป็นลำดับตามขั้นตอนของกระบวนการผลิตเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของการพัฒนาเทคนิคต่างๆ อันดำเนินอย่างต่อเนื่องมาหลายยุค หลายสมัย Van Cleef & Arpels ยังนำสร้อยคอสายซิปอีกสามชิ้นจากคอลเล็กชั่นมรดกประวัติศาสตร์มาร่วมแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เส้นแรกเป็นสร้อยคอเรือนทองคำสีเหลืองประดับทับทิมกับเพชร และสามารถดัดแปลงเป็นกำไลข้อมือได้จากปี 1954 ส่วนเส้นที่สองคือตัวเรือนแพลทินัมประกอบทองคำสีเหลืองรองรับงานฝังมรกตกับเพชรจากปี 1952 และเส้นที่สามเป็นกำไลข้อมือเข้าชุดจากปี 1955 โดยใช้วัสดุแบบเดียวกัน
Homo Faber: ปรากฏการณ์แห่งขนบหัตถกรรม
“โอโม ฟาแบร” คือนิทรรศการอันทรงแบบฉบับ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิหัตถศิลป์สร้างสรรค์ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo Foundation for Creativity and Craftsmanship) เพื่อเป็นเวทีสากลในการนำเสนอทักษะงานฝีมือหลากสาขา ซึ่งบรรดาหัตถกรช่างศิลป์ชายและหญิงจากทั่วทุกมุมโลกต่างมาเข้าร่วมเพื่อดำเนินการสาธิตแสดงสดนอกเหนือจากการใช้ระบบดิจิทัล และการแสดงผลงานหัตถศิลป์รุ่นต้นแบบ สำหรับนิทรรศการปีนี้ ประกอบไปด้วยศิลปินช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ผู้เดินทางข้ามทวีปมาร่วมแสดงพรสวรรค์ความสามารถ พร้อมกับนำผลงานเก่าแก่ของพวกเขามาให้สาธารณชนได้รับชมอย่างใกล้ชิด ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในปีนี้อยู่ที่ผลงานอันเอกอุของ 12 ศิลปินแห่งชาติ (Living National Treasures) เจ้าของรางวัลเชิดชูเกียรติภูมิจากรัฐบาลญี่ปุ่นในฐานะสุดยอดปูชนียบุคคลแห่งแวดวงหัตถศิลป์ระดับประเทศ พื้นที่จัดนิทรรศการครั้งนี้ จึงหาได้ต่างอะไรจากเวทีจัดแสดงความหลากหลาย และพรั่งพร้อมทางวัสดุ และศิลปะงานฝีมือจากเทคนิคโบราณแบบฉบับดั้งเดิมกำลังจะสาบสูญ ไปจนถึงกรรมวิธีล้ำยุคร่วมสมัย
สำหรับครั้งแรกที่มีการจัดนิทรรศการ Homo Faber ขึ้นเมื่อปี 2018 Van Cleef & Arpels ได้นำเทคนิคฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนซ่อนหนามเตยหรือ Mystery Set technique ซึ่งจดสิทธิบัตรคุ้มครองไว้เมื่อปี 1933 มาสาธิตเพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการแห่งความพรั่งพร้อมในเชิงนวัตกรรมตลอดทศวรรษของเมซง ส่วนนิทรรศการครั้งที่สองในปีนี้ นอกจากสร้อยคอสายซิปแล้ว ก็ยังมีกระเป๋าประดับ “มิโนดิเอร” (Minaudière) และนาฬิกาข้อมือ “กาเดอนาส์” (Cadenas) มาร่วมเป็นสักขีพยานเล่าขานถึงหัวใจแห่งนักสร้างสรรค์และขนบธรรมเนียมแห่งความเป็นเลิศอันก่อกำเนิดแรงบันดาลใจตราบนิรันดร์ให้แก่Van Cleef & Arpels