Van Cleef & Arpels รังสรรค์ชุดเครื่องประดับ Diamond Breeze คอลเล็กชั่น Lotus
ความวิจิตรบรรจงทางงานออกแบบโครงสร้างตัวเรือนรองรับเพชรใสเจียระไนรูปทรงพิเศษจาก Lotus collection ไม่ว่าจะเป็นแหวนหว่างนิ้ว, จี้สร้อยคอ และต่างหู ล้วนนำดอกไม้น้ำอันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความบริสุทธิ์หมดจดมาจัดช่อสามถึงสี่ดอกอย่างอ่อนช้อย จาก Van Cleef & Arpels
ในแต่ละปี Van Cleef & Arpels จะทำการรังสรรค์ชุดเครื่องประดับ Diamond Breeze ขึ้นเป็นประดุจบทกวีพรรณนาถึงความงดงามตระการตาของธรรมชาติท่ามกลางประกายขาวกระจ่างระยับแสงของพรมหิมะที่โรยตัวลงปกคลุมทั่วทั้งภูมิทัศน์ นำไปสู่ ช่อพฤกษาจรัสแสงแห่งเหมันต์
ด้วยแรงบันดาลใจจากเครื่องประดับรูปทรงดอกไม้นานาพรรณ ที่สรรค์สร้างขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1920 และผลงานรังสรรค์ใหม่ในตอนต้นศตวรรษที่ 21 คอลเล็กชั่น “ดอกบัว” หรือ Lotus collection คือการนำสุนทรียศิลป์ทางการออกแบบเครื่องประดับรูปทรงดอกไม้มา พลิกแพลงขึ้นใหม่ เพื่อเติมประกายสว่างใสพิสุทธ์ดุจหิมะแรกประดับข้อมือ, เนินอก และ วงหน้าอย่างสง่างาม
แต่ละแผ่นโมทิฟต่างขนาด ซึ่งถูกนำมาจัดวางร่วมกันเป็นบัวสี่ดอกอยู่บนหัวแหวนปลายเปิด หรือที่เรียกว่า “แหวนหว่างนิ้ว” (Between the Finger ring) ได้รับการจัดสัดส่วนรูปทรงให้ยกตัวขึ้น ทำมุมลาดเอียงกับเพชรเกสรตรงศูนย์กลางอย่างอ่อนช้อย เพื่อถ่ายทอดอากัปของกลีบดอกที่แกว่งไกวไปตามสายลมโชยพัด ในขณะที่ตำแหน่งของแต่ละวงกลีบดอกไล่ระดับลดหลั่น อำนวยต่อการรับแสงตกกระทบ และสะท้อนแสงแก่กันเพื่อทวีความเข้มแสง ทอประกายสว่างจรัสจ้าสะกดสายตาอย่างมีชั้นเชิง
ประกายระยิบระยับสกาวแสงที่ส่องต้องระหงลำคอจากจี้ประดับบัวสามดอก เป็นงานสร้างสรรค์อันอาศัยลูกเล่นการจัดสัดส่วนแบบอสมมาตรสไตล์ Van Cleef & Arpels ร่วมกับเทคนิคโครงสร้างตัวเรือนทองคำขาวเปิดโปร่งอำนวยให้แสงส่องผ่านเพชรแต่ละเม็ดที่บรรจงจัดตำแหน่งให้ช่วยเร่งระดับความเข้มของแสง ทวีน้ำหนักความสว่างจรัสตา
สุนทรียศิลป์ทางงานออกแบบตัวเรือนเปิดโปร่งนี้ ยังนำไปใช้กับคู่ต่างหู ซึ่งแต่ละข้างประกอบขึ้นจากดอกบัวกลีบเพชรสามดอกเช่นเดียวกัน โดยจัดช่อให้สองดอกอิงแอบแนบผิว เป็นเสมือนฐานรองรับอีกหนึ่งดอกที่กำลังชูช่อลอยตัว ผลงานล้ำค่าถือกำเนิดจากฝีมืออันชำนาญของช่างหัตถศิลป์แขนงต่างๆ ประจำเมซง
ไม่ว่าจะเป็นช่างทำตัวเรือนเครื่องประดับ, ช่างขัดผิว และช่างฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือน ผู้ระดมหลากเทคนิค ทั้งงานฝังเพชรบนกรอบลูกปัด และลงในก้านหนามเตย เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งรับแสงตกกระทบที่จะทวีความเข้มของแสงสะท้อนอย่างเจิดจ้า
พฤกษาสัญลักษณ์
ในฐานะดอกไม้มงคลที่ชาวเอเชียนิยมนำไปใช้สักการะ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์หมดจด และยังสื่อถึงวงจรวัฏฏะแห่งชีวิต ดอกบัวอันงดงามถูกนำมารังสรรค์เป็นเครื่องประดับของ Van Cleef & Arpels ครั้งแรกในระหว่างทศวรรษ 1920 ด้วยงานออกแบบสไตล์อียิปต์ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างผลงานอันแสดงออกซึ่งความกลมกลืนทางการจัดสัดส่วนองค์ประกอบ
ในขณะที่ปี 2001 ดอกบัวได้มาแย้มกลีบผลิบานเป็นครั้งแรกบนหัวแหวนปลายเปิดของแหวนหว่างนิ้ว ซึ่งกลายเป็นชิ้นงานสัญลักษณ์ หรือตัวแทนของเครื่องประดับคอลเล็กชั่นดอกบัว จากนั้น ได้มีการนำมาออกแบบระหว่างปี 2017 เพื่อมอบวิถีใหม่ในการสวมแหวน ด้วยโมทิฟรูปดอกบัวที่สามารถแผ่ตัวให้กระจายไปทั่วบนหนึ่งนิ้ว หรือครอบคลุมได้หลายนิ้ว สืบเนื่องจากระบบกลไกอันแยบคาย ส่วนดอกบัวในคอลเลคชันเครื่องประดับชั้นสูงนั้น จรัสประกายแห่งความสูงส่งอยู่บนเข็มกลัด ตลอดจนถูกนำมาพลิกแพลงตกแต่งบนสร้อยคอสายซิป เหล่านี้ล้วนเป็นผลงานซึ่งแสดงให้เห็นถึงหนึ่งในธรรมเนียมนิยมประจำเมซง
นั่นก็คืองานเครื่องประดับขาวใสสกาวแสงที่เรียกว่า White Jewelry บทบรรจบระหว่างประกายระยิบระยับของเพชรขาวใสน้ำงาม กับประกายสุกสกาววาววามของโลหะล้ำค่า ไม่ว่าจะเป็นทองคำขาว หรือแพลทินัม โมทิฟ ดอกบัวขนาดต่างๆ ล้วนคลี่กลีบล้อแสงอยู่บนจี้สร้อยคอซึ่งดัดแปลงวิธีสวมใส่ได้, ต่างหู และสร้อยข้อมือ
เสน่ห์พฤกษาที่ตราตรึง จาก VAN CLEEF & ARPELS
อาณาจักรรุกขชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดอกไม้ ยังคงเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจได้อย่าง ไม่สิ้นสุดให้แก่ Van Cleef & Arpels วิสัยทัศน์เชิงศิลป์ทางการสร้างสรรค์ สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมชมชอบต่อแต่ละช่วงจังหวะการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ หรือวงจรชีวิตตามธรรมชาติ สวนพฤกษาของเมซงช่างสมบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยพฤกษาหลากสายพันธุ์ ทั้งดอกหญ้าที่บานสะพรั่งปกคลุมทั่วท้องทุ่งอย่างเดซีกับบัตเตอร์คัพ, ดอกไม้ประดับสวนอย่างคามิลเลียหรือดอกชาภูเขา, เบญจมาศ, ฟูเชีย ตลอดจนดอกไม้ป่าอย่างอานีโมน, ลิลลี ออฟ เธอะ วัลเลย์, ไวโอเล็ต และดอกกระดิ่ง
ดอกเดซี่ปรากฏบนเข็มกลัดประดับเสื้อจากปี 1907 อันเป็นหนึ่งปีหลังก่อตั้งเมซง นับจากนั้น Van Cleef & Arpels ก็หาได้เคยหยุดยั้งในการศึกษาถึงลำดับการเปลี่ยนแปลงตามวงจรชีวิตที่หมุนวนไม่จบสิ้นของเหล่าพฤกษ์พันธุ์ เพื่อถ่ายทอดลีลาไล่ระดับโทนสี และมวลความลับในช่อดอกไม้มาสู่โมทิฟรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่จำลองความงามเสมือนจริง ไปจนถึงประดิษฐกรรมจำแลงของดอกไม้ในจินตนาการ กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้รูปแบบใด สไตล์ไหน อาณาจักรรุกขชาติของเมซง ก็ปรากฏสมาชิกสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเฉกเช่นวงจรหมุนเวียนเป็นนิรันดร์แห่งธรรมชาติ
เครื่องประดับคอลเล็กชั่น “กุหลาบคริสต์มาส” หรือ Rose de Noël collection (โรส เดอ โนเอ็ล) อันอ่อนช้อย ได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 1970 ส่วนกลีบดอกของเครื่องประดับ Cosmos (คอสมอส) หรือ “ดาวกระจาย” ก็ผลิบานเป็นครั้งแรกในปี 1981 ส่วนปี 2007 เครื่องประดับชั้นสูงคอลเลคชัน “พวงดอกไม้” หรือ Flowerlace High Jewelry คือบทบรรจบระหว่างสองแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ อันเป็นที่รักยิ่งของเมซง นั่นก็คือธรรมชาติกับแฟชัน
ในขณะที่ปี 2003 เครื่องประดับ Frivole (ฟริว็อล) หรือ “ดอกไม้ร่าเริง” คืองานออกแบบดอกไม้จากโลกแห่งจินตนาการ ด้วยกลีบรูปหัวใจอันอ่อนหวาน และงามสง่า การหลอมรวมเหลี่ยมมุมจากเส้นกราฟิกเข้ากับทรวดทรงที่ให้ความรู้สึกบางเบา ไร้น้ำหนัก ถูกนำมาใช้ในการออกแบบดอกไม้สไตล์ต่างๆ ทั้งวงกลีบดอกเดี่ยว และช่อดอกไม้ ซึ่งล้วนจรัสประกายสรรพสีธรรมชาติผ่านตัวเรือนทองคำสีเหลือง, ทองคำขาว และทองคำสีกุหลาบ เทคนิคขัดผิวขึ้นเงาราวกระจก ช่วยทวีความเลอค่า พร้อมกับเร่งระดับความเข้มแสง เพิ่มความสว่างให้แก่ประกายสะท้อนย้อนแนวตกกระทบ ในขณะที่งานฝังเพชรจิกไข่ปลากับการเข้าช่อโมทิฟโครงดอกไม้หลากชนิดในสัดส่วนอสมมาตร ร่วมกันจุดประกายจินตนาการถึงพฤกษานานาพรรณที่กำลังผลิบานงามสะพรั่งขึ้นในใจอย่างชัดเจน
Van Cleef & Arpels ใช้งานออกแบบต่างๆ เหล่านี้ในการถ่ายทอดความงดงามตามธรรมชาติ อันบังเกิดขึ้น และผันผ่านไปอย่างรวดเร็วให้กลายเป็นผลงานเสมือนจริง ที่จะดำรงอยู่ด้วยคุณค่าตราบนิรันดร์
บทระดมหลากมุมมองเพื่อเติมเต็มวิสัยทัศน์
เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์พร้อมสรรพให้แก่อาณาจักรจรัสแสงแห่ง Diamond Breeze เมซงแห่ง Van Cleef & Arpels ได้ร่วมงานกับเหล่าศิลปิน นักออกแบบ และสถาปนิกงานตกแต่งภายใน ซึ่งได้รับการคัดเลือกโดยพิจารณาถึงมุมมอง และแนวทางการสร้างสรรค์ของพวกเขา
เฮเลน เอมี เมอร์เรย์, ฟิเดลิ ซันด์ควิสต์, เอริก แมดิแกน เฮ็ค และคู่ศิลปินเซลีน ธิโบลต์กับเชโรด์ เปโญต์เตียโร และคิม ฮัดดูกับฟลอร็องต์ ดูฟูรค์ ต่างได้รับอิสระเต็มที่ในการตีความบรรดารูปทรงกับสีสันต่างๆ ซึ่งปรากฏในฤดูหนาวมาใช้ออกแบบงานตกแต่งบูติก Van Cleef & Arpels เป็นการเฉพาะกิจ
เติมแต่งความสดใสให้แก่หน้าต่างโชว์สินค้าด้วยมนตราฤดูหนาว
เพื่อยกย่องความโดดเด่นของเครื่องประดับ Diamond Breeze ชุดใหม่ ศิลปินเฮเลน เอมี เมอร์เรย์ (Helen Amy Murray) ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบพื้นที่ตกแต่งในส่วนหน้าต่างโชว์สินค้าของบูติก Van Cleef & Arpels ในฤดูนี้ การร่วมงานระหว่างเธอกับเมซงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2011 กับโครงการแรกสำหรับ Van Cleef & Arpels ครั้งนั้น ศิลปินสัญชาติอังกฤษผู้เชี่ยวชาญงานประติมากรรมสรรค์สร้างขึ้นจากวัสดุเนื้ออ่อน ได้นำจินตนากรที่ตนมีต่ออาณาจักรพืชพรรณ และสิงสาราสัตว์ในฤดูใบไม้ผลิมาแต่งแต้มสีสันบนแผ่นไม้ประกบผนังสำหรับใช้ประดับบูติกที่จัตุรัสว็องโดม หลังงานออกแบบตกแต่ง บูติก สาขาลอนดอนที่ถนนบอนด์สตรีท เธอก็ได้ดูแลงานออกแบบสำหรับบูติกสาขาฟิฟธ์อะเวนิวด้วยเช่นกัน
ส่วนการร่วมงานครั้งที่สี่กับเมซงในปี 2021 นี้ เฮเลน เอมี เมอร์เรย์ได้เลือกดอกไม้ดาวเด่นทั้งสามในสวนอัญมณีของ Van Cleef & Arpels gardenนั่นก็คือดอกบัว, ดอกฝิ่น และกุหลาบคริสต์มาส มารังสรรค์เป็นประติมากรรมงานฝีมือทำจากหนังกลับ หรือผ้าซิลค์เครปเนื้อซาตินเหลือบมุกประกายทองเพื่อขึ้นรูปดอกไม้ผลิบานเคียงข้างเหล่าผีเสื้อโบยบินอยู่บนพื้นฉากสีขาวหมดจด ซึ่งฉากขาวนี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนโครงเวทีรองรับการจัดวางเครื่องประดับอัญมณี บนฐานวางในวงกรอบสีขาวกับสีทองเฉดเข้ากัน
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นอีกหนึ่งการร่วมงานอันยิ่งใหญ่ที่สุด และน่าตื่นเต้นที่สุด ดิฉันยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่จะได้กลับมาร่วมงานกับเมซงอีกครั้ง แถมครั้งนี้ยังเป็นการออกแบบเพื่อยกย่องสรรพสีที่ทอประกายเจิดจ้ากลางฤดูหนาวอีกต่างหาก! ดิฉันชอบใช้ลูกเล่นขั้วต่างในความเหมือน นั่นก็คือเนื้อวัสดุที่นุ่มนวล และให้ความรู้สึกบอบบางเหมือนกัน ทว่ามีความแตกต่างทางเนื้อสัมผัส ระหว่างหนังกลับเนื้อด้านเนียน กับผ้าไหมเนื้อเงาแวววาว วัสดุทั้งสองราวกับมีชีวิตขึ้นจากการใช้เส้นทรวดทรงจากลายปัก ร่วมกับการไล่ระดับลดหลั่นของงานประติมากรรมนูนต่ำบนกลีบดอก และปีกผีเสื้อ ดิฉันเติมดอกไม้ใหม่ๆ ลงไปในสวนของบูติก ให้แกว่งไกลไหวเอนหยอกล้อกับเหล่านกฮัมมิงเบิร์ด และผีเสื้อกระพือปีกโบยบิน ทีมงานแสนพิเศษของดิฉัน กับตัวดิฉันร่วมกันทุ่มเททักษะทางงานฝีมือในการประดิษฐ์ประติมากรรมเนื้อผ้าขึ้นรูปทุกชิ้นเหล่านี้ด้วยตนเองอย่างประณีต พิถีพิถันจากความรัก”
Helen Amy Murray
HELEN AMY MURRAY
หลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะเชลซี (Chelsea College of Arts) เฮเลน เอมี เมอร์เรย์เลือกที่จะสร้างผลงานศิลปะของตนให้เป็นที่รู้จัก จากงานประติมากรรมขึ้นรูปด้วยวัสดุเนื้ออ่อนอย่างหนังสัตว์และสิ่งทอ ความกระตือรือร้นในการทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลานำไปสู่การเปิดสตูดิโองานศิลป์ของตนเองขึ้นเมื่อปี 2002 ในย่านอีสต์ลอนดอนสำหรับพัฒนางานประติมากรรมนูนต่ำบนวัสดุผิวเรียบ โดยใช้แผ่นไม้เลื่อย หรือไม่ก็หินอ่อนเป็นพื้นรองรับการตกแต่งหนัง, หนังกลับ และผ้าไหม ในฐานะศิลปิน ผู้ติดอันดับเจ้าของผลงานการออกแบบตกแต่งพื้นที่ซึ่งมีความพิเศษ ไม่เหมือนใครแห่งยุค ส่งผลให้เธอได้ร่วมงานกับบริษัทชื่อดังมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตยานยนต์ และกลุ่มโรงแรมชั้นนำ ผลงานสร้างสรรค์บางชิ้นของเธอได้รับการนำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียน แอนด์ อัลเบิร์ต (Victoria & Albert Museum) ตลอดจน ซอเมอร์เซ็ท เฮาส์ (Somerset House) และสถาบันศิลปะรอยัล อะคาเดมี (Royal Academy of Arts)
“เป็นเรื่องสนุกมากที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์แคมเปญใหม่ประจำฤดูหนาวให้แก่ Van Cleef & Arpels การถ่ายทอดจินตนาการออกมาสู่งานทัศนศิลป์สำหรับการร่วมงานครั้งที่สองนี้ มีความแตกต่าง และขัดแย้งกับผลงานซึ่งดิฉันเคยทำไปเมื่อปีที่แล้วอย่างยิ่ง เพราะครั้งนี้มีความเป็นสามมิติชัดเจนขึ้น รวมถึงมีสัตว์ต่างๆ มากขึ้น ทุกอย่างราวกับมีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความหลากหลาย และที่ดิฉันชอบมากที่สุดก็คือลูกเล่นตอนท้าย ซึ่งค่อยๆ มีสีสันปรากฏขึ้นมา”
Fideli Sundqvis
FIDELI SUNDQVIST
ฟิเดลิ ซันด์ควิสต์ เกิดที่เมืองอุปป์ซาลา ประเทศสวีเดน และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปะ, หัตถกรรม และงานออกแบบคอนส์แฟ็ค (Konstfack University of Arts, Crafts and Design) ในกรุงสต็อกโฮล์ม หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ได้ค้นพบความชื่นชอบที่ตนมีต่องานศิลปะกระดาษ ซึ่งเธอใช้จินตนาการหลากหลายมาพลิกแพลงเทคนิคการตัดกระดาษทั้งแบบดั้งเดิม และสไตล์ล้ำสมัย ร่วมกับงานจัดองค์ประกอบกระดาษตัดขึ้นเป็นโครงสร้างสามมิติ ฟิเดลิทำงานให้กับบริษัท และพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง โดยรับผิดชอบงานพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมถึงงานติดตั้งผลงานศิลปะจัดวางในพื้นที่สาธารณะ อีกทั้งยังมีผลงานตีพิมพ์หลายเล่ม
สำหรับเครื่องประดับ Diamond Breeze ฤดูนี้ ฟิเดลิสรรค์สร้างอาณาจักรแห่งความวิจิตรบรรจงผ่านผลงานภาพนิ่ง และวิดิทัศน์ เริ่มต้นด้วยการวาดภาพร่างแบบ และเลือกกระดาษ ก่อนมาประกอบกันขึ้นเป็นภาพต้นแบบ ร่วมกับงานวางสตอรีบอร์ด จากนั้นจึงมาถึงกระบวนการพัฒนา อันเป็นการทำงานร่วมกับทีมกราฟิกดีไซน์โดยใช้ระบบซอฟต์แวร์สร้างภาพ 3 มิติ
ERIK MADIGAN HECK
เอริก แมดิแกน เฮ็คเกิดที่เมืองเอ็กส์เซลซิเยอร์ ในรัฐมิเนโซตา สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1983 เขาเป็นศิลปินผู้ถนัดการทำงานกับภาพถ่าย, ภาพจิตรกรรมลงสี และภาพยนตร์ ผลงานอันโดดเด่นหลายชิ้น ส่งผลให้เฮ็คคว้ารางวัลภาพถ่ายระดับสากลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น International Center of Photography’s Infinity Award, the FOAM Fotografiemuseum Talent award, the Forbes 30 under 30 award ตลอดจนได้รับเหรียญทองสำหรับผู้กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม The Art Director’s Club Gold Medal จากผลงาน Old Masters ของเขา ซึ่งดำเนินการตีพิมพ์โดยนิตยสาร New York Times Magazine
ในปี 2019 เฮ็คได้จัดนิทรรศการผลงานของตนแต่เพียงผู้เดียวที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Musée des Beaux-Art ในเขตเลอ โลคล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และที่พิพิธภัณฑ์งานศิลป์สื่อผสม Multimedia Arts Museum ในกรุงมอสโคว์ ประเทศรัสเซีย ตลอดจนมีงานศิลปะจัดวางในพื้นที่สาธารณะที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ฮูสตัน (Houston Museum of Fine Arts) รวมถึงในงาน Paris Photo, Photo London และ Photo Shanghai นอกจากนั้น เขายังได้นำ Nomenus Quarterly กลับมาอีกครั้งในฐานะวารสารสิ่งพิมพ์นำเสนอเนื้อหาอันเป็นจุดบรรจบระหว่างศิลปะภาพถ่าย และจิตรกรรมภาพวาด ซึ่งเขาได้ร่วมงานกับศิลปิน และสถาบันต่างๆ มากมาย ปัจจุบัน นอกจากเฮ็คจะเป็นนักเขียนประจำของ The New York Times Magazine, TIME, Vanity Fair, The New Yorker และ Harper’s Bazaar รวมถึงนิตยสารอื่นๆ อีกมากมาย เขายังเป็นผู้เขียน Old Future ซึ่งดำเนินการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Thames & Hudson and Abrams Books
นับตั้งแต่ปี 2019 เอริก แมดิแกน เฮ็คได้ฝากฝีมืออันทรงเอกลักษณ์ของตนไว้กับงานภาพถ่ายเครื่องประดับหลายคอลเลคชันของ Van Cleef & Arpels รวมถึงยังได้รับอิสระเต็มที่ในการออกแบบ และสร้างสรรค์ภาพประกอบในหนังสือ Florae ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2020 โดยสำนักพิมพ์ Éditions Xavier Barral
“Diamond Breeze พาเราเข้าไปสู่บรรยากาศมหัศจรรย์แห่งฤดูหนาว เราต้องการจุดประกายความอบอุ่นขึ้นในฤดูกาลนี้ผ่านผลงานซึ่งต้องทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกผ่อนคลาย คล้ายสัมผัสถึงกลิ่นสน, เครื่องเทศ และผลไม้ตระกูลส้ม หรือมะนาว โดยอาศัยสีเขียวใบไม้ไล่เฉดเลื่อมโทนร่วมกับสีสันอื่นๆ ก่อตัวขึ้นเป็นฉากสะกดสายตา ทวีความโดดเด่นให้แก่เครื่องประดับคอลเลคชันต่างๆ ของ Van Cleef & Arpels”
Kim Haddou and Florent Dufourcq
FLORENT DUFOURCG
คู่นักออกแบบ และสถาปนิกตกแต่งภายใน คิม ฮัดดูกับฟลอร็องต์ ดูฟูรค์ ต่างสำเร็จการศึกษาระดับเกียรตินิยมจาก École Camondo (เอ็คโคล กาม็องโด) เมื่อปี 2015 ปัจจุบัน พวกเขาอาศัย และทำงานอยู่ที่กรุงปารีส ทั้งสองได้รับเลือกจากสำนักงาน Villa Noailles (วิลลา โนยส์) กับคณะกรรมการ อันมีปิเอร โยวาโนวิตช์เป็นประธาน ให้เข้าร่วมแข่งขันงานออกแบบ 2018 Design Parade Toulon
ซึ่งพวกเขาสามารถชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์จากคณะกรรมการผู้ตัดสินของ Van Cleef & Arpels ด้วยผลงาน Grotto อันได้รับแรงบันดาลใจจากบรรยากาศเมอดิเตอเรเนีย พวกเขาทำงานออกแบบตกแต่งสถานที่หลายแห่ง ทั้งพื้นที่สาธารณะ และส่วนตัว ตลอดจนบูติก ร้านค้า, อพาร์ตเมนท์, งานตกแต่งบรรยากาศนิทรรศการ และงานศิลปะจัดวาง รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ความฝัน และมุมมองอันทรงเอกลักษณ์ คือรากฐานในการสร้างสรรค์ผลงานโครงการต่างๆ ของศิลปินคู่นี้ โดยมีจินตนาการ กับพลังในการจุดประกายอารมณ์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการออกแบบ
“ภายใต้ผืนหิมะที่ปกคลุมไปทั่วกลางฤดูหนาว บรรดาพฤกษารัตนชาติต่างปลุกความกระหายใคร่รู้ราวกับส่งเสียงแผ่วกระซิบออกมาจากป่าสนซึ่งกำลังหลับใหล ช่อใบแหลมเรียวของสนซีดาร์ ถูกความเหน็บหนาวเกาะกุมจนแข็งตัว มิติสีด้านมืด และเนื้อสว่าง ก่อลีลาแห่งการสะท้อนแสงวิบวับสลับไปมา ลำแสงแห่งตะวันช่วยทวีความชัดเจนของท่วงทำนองล้อแสงระยิบระยับจากเครื่องประดับเหล่านี้”
Céline Thibault and Géraud Pellottiero
CÉLINE THIBAULT & GÉRAUD PELLOTTIERO
ศิลปินคู่ เซลีน ธิโบลต์กับเชโรด์ เปโญต์เตียโร เริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวงเมื่อปี 2018 จากผลงานศิลปะจัดวาง และงานสรรค์สร้างอันผสานจินตนาการของแต่ละฝ่ายร่วมกับแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจต่างขั้ว เซลีนเป็นนักออกแบบสิ่งทอผู้สำเร็จการศึกษาจาก ENSCI - Les Ateliers มีความชำนาญด้านการตกแต่งขั้นตอนสุดท้าย ส่วนเชโรด์คือ นักออกแบบตกแต่งภายในผู้สำเร็จการศึกษาจาก École Boulle (เอโคล บูญ)
ในปี 2016 กับโปรแกรมระดมความคิดสร้างสรรค์ Kyoto Contemporary ที่จุดประกายความปรารถนาในการทำงานร่วมกันให้แก่ทั้งสอง พวกเขาได้ค้นพบความหลากหลาย และพรั่งพร้อมทางศิลปะของเกียวโต และดื่มด่ำกับการซึมซาบทักษะ ความชำนาญอันสืบทอดมายาวนานหลายศตวรรษของมหานครแห่งนี้ หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ในญี่ปุ่นถึงสองปี พวกเขาได้ร่วมงานกันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2019 สำหรับเทศกาลศิลปะการออกแบบ Design Parade Toulon ผ่านผลงานศิลปะจัดวางสุดแหวกแนวชื่อ Zou Maë! (ซูมาเอะ) เพื่อยกย่องกิจวัตรการอาบน้ำในฐานะศิลปะวิถีหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งสองได้ทำการศึกษาค้นคว้าถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างสองขั้ววัฒนธรรม นั่นก็คือเมอดิเตอเรเนียน กับญี่ปุ่น เพื่อสืบหาจุดเชื่อมต่อทางความวิจิตรบรรจง อันนำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างสบู่ตูล็อง (Toulon soap) ซึ่งเป็นสบู่ก้อนผลิตด้วยมือของเมอดิเตอเรเนียน และงานกระดาษวาซิเคลือบแล็คเกอร์ขึ้นเงาของญี่ปุ่น ห้องอาบน้ำพร้อมอ่างที่ปรากฏขึ้นกลางพื้นที่จัดเทศกาลครั้งนี้ ทำให้พวกเขาชนะรางวัลกรังด์ปรีซ์จาก Van Cleef & Arpels Grand Jury Prize รวมถึงรางวัล Audience Prize
ในการให้กำเนิดผลงาน และโครงการศิลปะต่างๆ เซลีนกับเชโรด์จะร่วมกันศึกษาวิจัยถึงเทคนิค, กรรมวิธี หรือเครื่องมืออุปกรณ์สักอย่างเพื่อนำมาตีความ พลิกแพลง และรังสรรค์สำหรับการทำงานร่วมกับช่างศิลป์ประจำท้องถิ่น ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าถึงจิตใจของผู้รับชม พวกเขาจะหาทางเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้เข้ามาสำรวจ และดื่มด่ำกับมิติต่างๆ อันสุดตระการตาในผลงานซึ่งบังเกิดจากการปูรากฐานทางสุนทรียศิลป์ที่หลอมรวมงานออกแบบ สไตล์ญี่ปุ่นอันชวนให้ใช้สมาธิในการตรึกตรอง พิจารณา เข้ากับวิถีการตกแต่งประดับประดาแบบฝรั่งเศสด้วยสัดส่วนที่ได้สมดุลอย่างลงตัว