Puff.

View Original

L’ÉCOLE Asia Pacific กับการจัดนิทรรศการ “Discover the Gemstones, Ruby & Sapphire” Exhibition

ผลงานยกย่องคุณค่าวัฒนธรรมครั้งล่าสุดจากโรงเรียนอัญมณศิลป์สาขาถาวรลำดับสองของ L’ÉCOLE ประกอบขึ้นจากบรรดากิจกรรมเผยแพร่องค์ความรู้อันเป็นเสมือนบานประตูเปิดสู่อาณาจักรแห่งเครื่องประดับอัญมณี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นความลับ ให้ผู้สนใจในเอเชียได้เข้าร่วมไม่ว่าจะเป็นคอร์สกิจกรรม การบรรยายกึ่งสนทนาและนิทรรศการระดมผลงานอันผ่านการคัดสรรชุดใหม่

เขตปกครองพิเศษฮ่องกง – สืบเนื่องจากภารกิจเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ และวัฒนธรรมเครื่องประดับอัญมณี โรงเรียนอัญมณศิลป์ L’ÉCOLE Asia Pacific, School of Jewelry Arts มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะนำเสนอนิทรรศการองค์ความรู้ครั้งใหม่ “ทรรศนาการรัตนชาติ ทับทิมกับไพลิน” (Discover the Gemstones, Ruby & Sapphire) ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนจนถึง 30 กันยายน 2020 นับจากเปิดดำเนินงาน สถาบันองค์ความรู้สาขาถาวรลำดับสองของตนขึ้นบนเกาะฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา L’ÉCOLE Asia Pacific ได้ต้อนรับนักศึกษากว่าหลายพันคนผ่านบรรดาคอร์ส การศึกษา รวมถึงการจัดบรรยายกึ่งสนทนา และนิทรรศการ สำหรับวันนี้ สถาบันกำลังจัดเตรียมโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้สนใจได้เข้าเรียนรู้ทำความรู้จักกับความงดงามอันพรั่งพร้อมของรัตนชาติต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น

“เราขอแสดงความซาบซึ้ง และขอบคุณต่อชุมชนนักศึกษาของเราเป็นอย่างยิ่ง ทั้งกลุ่มใหม่ และขาประจำที่แวะเวียนมาตลอดเวลาอันยาวนาน สืบเนื่องจากความสนใจใฝ่รู้ไม่สิ้นสุดของพวกเขา ความกระตือรือร้น และการสนับสนุนอันมีให้ตลอดหกเดือนนับแต่เราเปิดทำการโรงเรียนสาขาเป็นการถาวรบนเกาะฮ่องกง สำหรับนิทรรศการ ‘ทรรศนาการรัตนชาติ ทับทิมกับไพลิน’ หรือ ‘Discover the Gemstones, Ruby & Sapphire’ ซึ่งกำลังจัดเตรียมเปิดแสดงอยู่ในตอนนี้ จะกลายเป็นโอกาสให้เรามอบความพิศวง และอัศจรรย์ใจให้ทุกคนได้อีกครั้งผ่านการเดินทางเหนือความคาดหมาย โดยมีจุดเริ่มต้นจากความงดงามที่แฝงเร้นอยู่ภายในมวลรัตนชาติ นี่จะเป็นทรรศนาการอันนำมาซึ่งปฏิสัมพันธ์ใกล้ชนิด จากขอบข่ายของธรณีวิทยา และอัญมณีวิทยา เพื่อให้ผู้มาเยือนได้เปิดมิติมุมมองใหม่ไปกับการค้นพบ ทำความเข้าใจต่อแง่มุมต่างๆ ในศิลปะเครื่องประดับอัญมณี ทั้งในส่วนของวิชาการถ่ายภาพไปจนถึงวิทยาศาสตร์ แร่วิทยา และอื่นๆ อีกมากมาย” มิส เอลิส กงเนต์-ปง กรรมการผู้จัดการโรงเรียนอัญมณศิลป์ L’ÉCOLE Asia Pacific, School of Jewelry Arts กล่าว

มิส เอลิส กงเนต์-ปง กรรมการผู้จัดการโรงเรียนอัญมณศิลป์ L’ÉCOLE Asia Pacific, School of Jewelry Arts

นิทรรศการครั้งนี้ ยังเป็นการร่วมงานเชิงภัณฑารักษ์ระหว่างโอลิวิเอร เชกูรา นักอัญมณีศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการประจำ L’ÉCOLE, School of Jewelry Arts กับบิลลี ฮิวจ์ส์ ช่างภาพเจ้าของรางวัลมากมาย อีกทั้งยังเป็นนักอัญมณศาสตร์แห่ง Lotus Gemology ผู้เข้าชมจะรู้สึกราวกับตนกำลังเริ่มออกเดินทางค้นหา และได้พบกับบรรดาทับทิมกับไพลินแบบต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ หนึ่งในสิ่งซึ่งน่าหลงใหล ประทับใจทั้งหลายที่พวกเขาจะได้พานพบนั้นก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า รัตนชาติเลอค่าทั้งสองชนิดนี้ ต่างเป็นพลอยในตระกูลคอรันดัม อีกทั้งยังมีโครงสร้าง และองค์ประกอบเคมีคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง สิ่งซึ่งทำให้ทับทิมมีสีแดงสดเจิดจ้า หรือไพลินมีสีสันมากมายนอกเหนือจากน้ำเงินสุกสกาวนั้น ถูกกำหนดขึ้นจากปริมาณเคมีธาตุในสัดส่วนต่างๆ กันของรัตนชาติแต่ละเม็ด

นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์ อาศัยการใช้ภาพถ่ายต่างๆ จากฝีมือของบิลลี ฮิวจ์ส์ เพื่ออำนวยให้ผู้เข้าชมสามารถแลเห็นเครื่องหมายประจำตัวตามธรรมชาติตั้งแต่ถือกำเนิดของพลอยเหล่านั้นอย่างใกล้ชนิด อีกนัยหนึ่ง ทุกคนจะได้มองเห็น “สารฝังในต่างๆ” ของหินแร่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจับภาพฉัพพรรณรังสีเหลือบรุ้งอย่างทรงเอกลักษณ์ในน้ำพลอยของทับทิมพม่า ผลึกคริสตัลหลากแฉกเหมือนเกล็ดละอองหิมะในไพลินจากมาดากัสการ์ หรือกระทั่งลวดลายเหลี่ยมดาวจรัสประกายสุกสกาวจากภายในทับทิมรัศมีหกแฉก ล้วนงดงามเกินจินตนาการ บรรดารอยตำหนิ หรือสารฝังในทั้งหลายนี้ ยังเป็นร่องรอยสำคัญสำหรับใช้สืบย้อนหาตำแหน่งแหล่งกำเนิด หรือรกรากที่มาของพลอยแต่ละเม็ด อีกทั้งยังใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบว่าเป็นพลอยธรรมชาติ หรือสังเคราะห์ รวมกระทั่งใช้ในการประเมินกรรมวิธี หรือกระบวนการตกแต่งต่างๆ ที่รัตนชาติเม็ดนั้นๆ ต้องเผชิญ จากผลงานของฮิวจ์ส์ ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถค้นพบมิติล้ำลึกระดับอณูอันเปรียบเสมือนชีวิตมหัศจรรย์อีกด้านที่ซุกซ่อนอยู่ภายในพลอยน้ำงามทั้งหลาย

เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดบรรจบระหว่างของขวัญเลอค่าจากธรรมชาติกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมวลมนุษยชาติ ภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ได้รับการจับวางประกบเคียงกับทับทิม และไพลินในรูปแบบของทั้งพลอยดิบตามธรรมชาติ และผ่านการเจียระไนอย่างวิจิตรบรรจง ตลอดจนเหล่าเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง ทั้งที่เป็นผลงานมรดก และผลงานร่วมสมัยจากสถาบันผู้ผลิตเครื่องประดับอันโด่งดังแห่งต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของทรรศนาการองค์ความรู้ คณาจารย์สำหรับนิทรรศการของ L’ÉCOLE ครั้งนี้โดยเฉพาะ จะรับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์คอยให้คำแนะนำ และคำอธิบายต่างๆ แก่กลุ่มผู้เข้าชม อย่างเช่นวิธีตรวจหาร่องรอยเชิงธรณีวิทยาภายในรัตนชาติทั้งหลายด้วยตาเปล่า ร่วมกับการใช้เครื่องมือเชิงธรณีวิทยาอย่างแว่นขยายของช่างทำเครื่องประดับ และกล้องจุลทรรศน์ รวมถึงสาธิตให้ดูว่า พลอยเหล่านั้นถูกแปรรูปผ่านน้ำมือของช่างเจียระไนผู้ชำนาญได้อย่างไร ไปจนถึงขั้นตอนการฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนเครื่องประดับ โดยอาศัยทักษะความชำนาญระดับหัตถศิลป์ชั้นสูง นิทรรศการครั้งนี้

“บ่อยครั้งที่รัตนชาติ จะได้รับการยกย่อง หรือเล็งเห็นคุณค่าในแง่ของความงดงามเชิงสุนทรียศิลป์ และสีสันอันเต็มไปด้วยประกายสว่างสุกใส   อย่างไรก็ตาม เราต้องการให้ผู้คนทั้งหลายได้ใช้ความคิดตรึกตรองไปมากกว่ากรอบการรับรู้นี้ ก่อนที่จะชื่นชมอัญมณีที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุม และหน้าตัดเจียระไนอย่างวิจิตรบรรจงซึ่งฝังอยู่บนตัวเรือนเครื่องประดับนั้น เราจะพบรัตนชาติเหล่านี้ในรูปแบบของ ‘พลอยดิบ’ ลำดับขั้นที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเผชิญกับประดิษฐกรรมใดๆ จากมวลมนุษย์ ยกเว้นก็แต่เพียงการสกัดกรอนออกมาจากหินต้นกำเนิด ‘พลอยดิบ’ เหล่านี้เป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์ของโลก และปรากฏการณ์ธรรมชาติครั้งสำคัญในแต่ละยุค ในนิทรรศการครั้งนี้ เราต้องการเชื้อเชิญให้ทุกคน จากนักสังเกตมือสมัครเล่น ไปจนถึงนักเลงเพชรพลอยตัวจริง ได้สามารถค้นพบ, เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และดื่มด่ำกับรัตนชาติทั้งหลายในแง่มุมต่างๆ”  โอลิวิเอร เชกูรา นักอัญมณศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของโรงเรียนอัญมณศิลป์ L’ÉCOLE, School of Jewelry Arts กล่าว

โอลิวิเอร เชกูรา นักอัญมณศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของโรงเรียนอัญมณศิลป์ L’ÉCOLE, School of Jewelry Arts

“ดิฉันมองว่า อัญมณีวิทยาเป็นบทบรรจบอันลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์ และศิลปะสาขาต่างๆ เพราะเราต้องใช้กระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์หลายแขนงมากในฐานะนักอัญมณศาสตร์ ผู้ที่ต้องทำงานด้านศิลปะวิจักษ์และสุนทรียศิลป์ของอัญมณี ในขณะที่การถ่ายภาพผ่านกล้องจุลทรรศน์ของดิฉัน ต้องพึ่งพาสาขาวิชาชีพที่ต้องชำนาญในการใช้กล้องจุลทรรศน์ ควบคู่ไปกับการใช้กล้องถ่ายภาพ และวิธีการจัดแสง สิ่งมหัศจรรย์นั้นก็คือว่า    ตาเปล่าของคนเรายังเป็นกลไก หรือเครื่องมืออันดับแรก อีกทั้งยังมีความสำคัญอย่างที่สุดในการรับภาพ และชื่นชมความงามของรัตนชาติต่างๆ ดิฉันหวังว่า นิทรรศการครั้งนี้ จะนำพาผู้คนที่แวะมายัง L’ÉCOLE ให้ได้เห็น และสัมผัสมนต์เสน่ห์อัศจรรย์ของหินรัตนชาติทั้งหลายได้ด้วยตัวเอง ก่อนจะก้าวไปพบกับอีกโลกหนึ่งทั้งใบที่แฝงตัวอยู่ในอัญมณีแต่ละชิ้น” บิลลี ฮิวจ์ส์ นักอัญมณศาสตร์แห่ง Lotus Gemology อธิบาย

ระหว่างเปิดทำการตลอดทั้งปี ในแต่ละปี โรงเรียนอัญมณศิลป์ภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิก L’ÉCOLE Asia Pacific มีการนำเสนอคอร์สการเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาหลักสามประเด็น อันได้แก่ Savoir Faire (ไหวพริบในการใช้ทักษะเชิงหัตถศิลป์) ของเทคนิคต่างๆ ในการทำเครื่องประดับอัญมณี, Universe of Gemstones (อาณาจักรรัตนชาติ) และ Art History of Jewelry (ประวัติศาสตร์ศิลป์ของเครื่องประดับอัญมณี)  ผู้ซึ่งกระหายจะเรียนรู้ และเข้าใจในสาเหตุที่รัตนชาติแต่ละชนิด แต่ละชิ้น ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถตรวจสอบ และเลือกโปรแกรมอัญมณวิทยาคลาสต่างๆ เพื่อลงทะเบียนเข้าเรียนได้จากหัวข้อรายการการศึกษา อย่างเช่น “Discover the Gemstones” หรือ “ทำความรู้จักรัตนชาติ”        จะอำนวยให้นักเรียน นักศึกษาทั้งหลายได้เริ่มต้นทำความรู้จักกับรกรากที่มาของหินรัตนชาติทั้งหลาย รวมถึงความหลายหลากมากมาย และเทคนิคต่างๆ อันนำมาใช้กร่อน สกัด และเก็บรวบรวม ในขณะที่  “Recognize the Gemstones” หรือ “รู้จักจำแนกประเภทรัตนชาติ” เป็นเสมือนกระบวนการสร้างทักษะให้ผู้เข้าเรียน ได้รู้จักจำแนก แยกประเภทรัตนชาติชนิดต่างๆ ด้วยการใช้ทั้งตาเปล่า และอุปกรณ์ของมืออาชีพ นอกจากนั้น ยังมีคอร์สการเรียนรู้แบบสองขั้นตอน ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับอัญมณีที่เลอค่าสูงสุด นั่นก็คือเพชร โดยเนื้อหาจะรวมไปถึงประวัติความเป็นมากับสารพัดตำนาน รวมถึงการประมวลความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ และอัญมณีวิทยา

หากต้องการข้อมูลรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติม หรือลงทะเบียนเลือกเรียนคอร์สต่างๆ ของ L’ÉCOLE Asia Pacific ตลอดจนลงทะเบียนเข้าชมนิทรรศการ “Discover the Gemstones, Ruby & Sapphire” กรุณาเข้าสู่เว็บไซต์ https://www.lecolevancleefarpels.com/hk or email hk.lecole@vancleefarpels.com